สภาท่องเที่ยวฯ ชูนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ดันท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เร่งตั้ง Tourism War Room ยกระดับท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์
สภาท่องเที่ยวฯ ขานรับนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ดันท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ หนุนตั้ง Tourism War Room ขับเคลื่อนท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยว ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/2566 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรฐกิจไทยที่ยังไม่แน่นอนและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 นอกจากนี้กังวลเกี่ยวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ช่วงต้นไตรมาสประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า นอกจากนี้ภาคการส่งออกของไทยหดตัว 10 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้เม็ดเงินในมือของประชาชนน้อยลง จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้จึงต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และยังถือว่าต่ำกว่าปกติในระดับมาก (ปกติ 100)
ร้อยละ 76 ของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีรายได้น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด -19 โดยธุรกิจ ร้านอาหารมีรายได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ก่อนเกิดวิกฤตโควิด -19 และร้านขายของฝากของที่ระลึก รายได้น้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 46 กรุงเทพมหานครมีรายได้มากที่สุด ประมาณร้อยละ 59 ส่วนภาคตะวันออกและภาค ตะวันตกมีรายได้น้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 51
ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีจำนวนแรงงานประมาณร้อยละ 84 ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด - 19 น้อยกว่าก่อน เกิดวิกฤตโควิด -19 ประมาณร้อยละ 16 (คิดเป็นจำนวนแรงงาน ประมาณ 600,000 ตำแหน่ง) แต่มีสถานประกอบการ เพียงร้อยละ 4 ที่ระบุว่าต้องการแรงงานเพิ่มในไตรมาสหน้า (ประมาณ 160,000 ตำแหน่ง)
การคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 75 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาด ว่าในไตรมาสหน้าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีวันหยุดยาวถึง 6 ช่วง และการจัดกิจกรรมในเทศกาลต่าง ๆ ในไตรมาสหน้าจะส่งผลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ๆ
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่รัฐบาลเศรษฐา 1 ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกๆ และตั้งเป้าแบบท้าทาย สร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไว้ที่ 4 ล้านล้านบาท โดยเน้นที่มูลค่ามากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องปรับกลยุทธใหม่ นอกจาก Restart แล้ว ยังต้อง Reboost ทั้งออกแบบสินค้าและบริการตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับนักท่องเที่ยวคุณภาพ ยุคใหม่
นายชำนาญ กล่าวเสริมว่าภาคเอกชน เห็นการเดินหน้าเชิงรุก ทั้งเรื่องฟรีวีซา การพัฒนาสนามบิน การตั้งทีม ยุทธศาสตร์ Softpower และการเติมบูสเตอร์ซอตต่างๆแล้วมีความมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศและกระจายรายได้ให้คนไทยทั้งประเทศได้อีกครั้ง เป้าหมายรายได้ 4 ล้านล้านบาทนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากทุกภาคส่วน เอกชน ภาครัฐทุกกระทรวง ร่วมกันทำงาน กำจัดอุปสรรค และสร้างจุด แข็งร่วมกัน
และเพื่อให้เกิดการทำงานแบบ RealTime ที่มีประสิทธิภาพ สภาท่องเที่ยวฯ ขอเสนอให้มีการตั้ง Tourism Warroom ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี ททท. สทท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดีอีเอส และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันสร้าง Tourism Big Data + Social Listening เพื่อทั้งรวบรวมข่าวสาร แก้เฟคนิวส์ ช่วยกัน ดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยและมั่นใจ รวมถึงการสร้าง Digital Content ที่มีพลังบวกให้สอดรับกับโอกาสใหม่ๆตามเทรนด์ ที่เกิดขึ้น และมีการสรุปนโยบายเชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งเพื่อผลักดันโยบายเชิงรุกในยุค Tourism War Game นี้ที่ หลายประเทศใช้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ Quick win ในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19