วช. ปลื้ม! มรภ.เชียงราย เร่งบ่มเพาะวิศวกรสังคม ยกระดับชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน ผลเกินคาด!
วช.สนับสนุนมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เดินหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือ โครงการบ่มเพาะวิศวกรสังคมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ณ ตำบลศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย แห่ง สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย |
นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล |
วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “โครงการพัฒนาพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชนศรีดอนมูลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยกระบวนการทางวิศวกรสังคม” ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมี ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย แห่ง สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ณ ลานโรงอบข้าวศูนย์ข้าวชุมชนตำบลศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการบ่มเพาะวิศวกรสังคมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกอันหนึ่ง ที่ วช.เข้าไปหนุนเสริมการสนับสนุนนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ในการนำกระบวนการใช้เครื่องมือทางวิศวกรสังคมและกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ณ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน ได้นำหลักแนวคิดวิศวกรสังคมมาสู่การสร้างโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม
ดร.ชฎาพัศฐ์ สุขกาย มรภ.เชียงราย หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มรภ.เชียงรายได้ใช้พื้นที่ชุมชน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินโครงการ โดยนำวิศวกรสังคมร่วมพัฒนาโจทย์กับพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชน ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของเชียงแสน มีการจัดตั้งบริษัทศูนย์ข้าวชุมชน และต้องการความช่วยเหลือในการปรับปรุงโรงเรือนของศูนย์ข้าวให้มีความทันสมัยและได้มาตรฐาน รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๅให้กับผลิตผลทางการเกษตรของชุมชน ดังนั้น จึงได้นำกระบวนการวิศกรสังคม มาร่วมทำงานค้นหาโจทย์กับท้องถิ่น
พร้อมนี้ นายธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล กล่าวว่า การที่โครงการได้นำวิศวกรสังคม เข้ามาช่วยค้นหาโจทย์ของชุมชน พร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วม กับเกษตรกรตำบลศรีดอนมูล คณะนักวิจัยและวิศวกรสังคม 5 ทีม ได้นำนวัตกรรม BCG เข้ามาช่วยเกษตรกร อาทิ การนำฟางไปทำกระดาษสาและเป็นส่วนผสมของอิฐ การจัดทำน้ำหมักมอลต์ การทำแผนที่แปลงเกษตร Geo-Database และการสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรด้วยเทคนิคการปลูกเห็ดจากฟางข้าว พร้อมกันนี้ นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล ได้กล่าวด้วยว่า ทาง อบต.ได้เห็นความสำคัญของกระบวนการวิศวกรสังคมที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และเห็นประโยชน์การทำงานต่อเนื่องในระยะต่อไป
โครงการบ่มเพาะวิศวกรสังคมในการพัฒนาพื้นที่ สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะ Soft Skill ให้นักศึกษา โดยการเรียนรู้ข้ามศาสตร์แบบลงมือปฏิบัติจริง ด้วยการนำประเด็นพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ผ่านกระบวนการพี่เลี้ยงของคณาจารย์และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรรมสังคมร่วมแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่