ADS


Breaking News

วช.หนุน มรภ.เชียงราย ยกระดับวิศวกรสังคม ลงพื้นที่ข้าวชุมชนศรีดอนมูล เชียงแสน เพิ่มรายได้เศรษฐกิจชุมชนฐานรากอย่างยั่งยืน

วช. ผนึก มรภ.เชียงราย หนุนวิศวกรสังคม พัฒนาพื้นที่ชุมชนข้าวศรีดอนมูล เชียงแสน ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีรายได้อย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.ชฎาพัศฐ์  สุขกาย แห่ง สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย
นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล
นายธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล
     วันที่ 2 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัย การพัฒนาพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชนศรีดอนมูลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยกระบวนการทางวิศวกรสังคม ณ ลานโรงอบข้าวศูนย์ข้าว ชุมชนตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. มี ดร.ชฎาพัศฐ์  สุขกาย แห่ง สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อบ่มเพาะวิศวกรสังคมสำหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ และศึกษาข้อมูลพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูลด้วยการใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมและกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการวิศวกรสังคมกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแผนโครงการวิศวกรสังคม โดยมีทีมนักวิจัย นักศึกษา มรภ.เชียงราย พร้อมด้วย นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล นายธนานุวัฒน์  จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล และประชาชนบริเวณใกล้เคียงให้การต้อนรับ
ดร.ชฎาพัศฐ์  สุขกาย แห่ง สำนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มรภ.เชียงราย
นายธนานุวัฒน์  จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล
นักศึกษาวิศวกรสังคม ทีมวัสดุก่อสร้างจากฟางข้าว

     ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ และมุ่งเน้นการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน เชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วช. จึงมีความพร้อมที่จะสร้างสุดยอดผู้นำวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนนักศึกษา และบุคลากรที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม ให้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยกลุ่มผู้นำวิศวกรสังคมสามารถลงชุมชนแล้วนำความรู้ไปใช้ในการยกระดับนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป โดย วช. ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาความต้องการของพื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล ด้วยการใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมและกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่สู่การพัฒนา เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ศรีดอนมูลตามหลักแนวคิดวิศวกรสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     ดร.ชฎาพัศฐ์  สุขกาย แห่ง มรภ.เชียงราย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงการดำเนินงานว่า มรภ.เชียงรายได้รับการสนับสนุนจาก วช. ใช้พื้นที่ชุมชนศรีดอนมูล  อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่การเกษตรข้าวชุมชน เนื่องจากชุมชนศรีดอนมูลมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำไหลผ่าน คือ ลำน้ำแม่คำ และลำน้ำแม่มะ เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงแสนมีการจัดตั้งบริษัทศูนย์ข้าวชุมชน แต่ยังประสบปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงโรงเรือนของศูนย์ข้าวให้มีความทันสมัยและได้มาตรฐานมากขึ้น มีปัญหาในการอบข้าว ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพรวมทั้งการยกระดับแปลงผลิตข้าวของสมาชิกจาก GAP ให้ผ่านรับรองมาตรฐานอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตข้าวให้เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น มีช่องทางการตลาดที่หลากหลายทันสมัยโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ตลอดจนการพัฒนาด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นมาตรฐานในรูปแบบบริษัทของชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องเชื่อมร้อยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 40 กลุ่ม ที่จำเป็นต้องพัฒนาตลอดห่วงโซ่ให้สามารถผลิตได้ขายเป็นทั้งระบบได้ โดยทีมนักวิจัยดำเนินการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อการจำหน่ายที่ไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นมากขึ้นนอกจากข้าวสาร และเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวให้มีขนาดใหญ่และเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของอำเภอเชียงแสน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ดร.ชฎาพัศฐ์ฯ ยังระบุถึงกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาเป็นวิศกรสังคม ว่ามี ความเข้มข้น โดยมีกรรมการคัดเลือกจากภาคชุมชน เป็นหัวหน้าชุมชน นักศึกษาจะต้องเข้ามาหาข้อมูลในพื้นที่โดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรทางสังคม จนได้ทีมวิศวกรสังคมที่เข้มแข็ง 5 ทีม โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
     ด้าน นายธนานุวัฒน์ จันทร์ฟอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนศรีดอนมูล กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่นักวิจัยได้เข้ามาช่วยพัฒนาข้าวของเกษตรกรตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นปีที่ 2 ซึ่งปีแรกได้มีโครงการ U2T ของ อว. เข้ามาเก็บข้อมูลด้านข้าว และปีที่ 2 คณะนักวิจัยได้นำนวัตกรรม BCG เข้ามาช่วยเกษตรกร โดยเริ่มจากนำฟางไปทำกระดาษสา ทำเป็นอุปกรณ์ก่อสร้าง และน้ำหมักมอลต์ ศูนย์ข้าวก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพข้าว จนเป็นข้าว GDT ข้าวเมล็ดพันธุ์ และข้าวอินทรีย์ ในฐานะที่เป็นประธานก็อยากจะขอบคุณนักวิจัยที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรตำบลศรีดอนมูล ให้มีอาชีพ และมีรายได้ จากการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน มาป้อนเป็นวัตถุดิบหลักให้กับอุตสาหกรรมด้วย
     อนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เยี่ยมชมโครงการวิจัย โดยมีทีมนักศึกษาวิศวกรสังคม จำนวน 5 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก นำเสนอผลการดำเนินการพัฒนาศักยภาพตนเองสู่การเป็นนักศึกษาวิศวกรสังคมและผลงานนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าจากข้าว-เศษวัสดุจากฟางข้าว ที่ประกอบด้วย ทีมแผนที่ข้าวชุมชน Geo-Database ทีมน้ำหมักมอลต์ข้าว ทีมก้อนเห็ดจากฟางข้าว ทีมวัสดุก่อสร้างจากฟางข้าว และทีมกระดาษจากฟางข้าว  และตัวแทนชุมชนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ โดยผู้บริหาร และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนาโครงการวิจัยต่อไป