ADS


Breaking News

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มอบรางวัล สาขาการแพทย์ แก่ผู้มีคุณูปการสำคัญในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ป้องกันโควิด-19

     มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ให้แก่ 
- รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Kariko, Ph.D.)
- ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.)
- ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Culllis, Ph.D.)

พลิกโฉมการรักษา ด้วยวิวัฒนาการล้ำยุค

กับ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกผู้คิดค้น

เทคโนโลยี mRNA และ วัคซีนโควิด-19


     ในฐานะผู้มีคุณูปการสำคัญในการเป็นส่วนสำคัญของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีพิธีการเข้ารับพระราชทานรางวัลไปแล้ว ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับหน้าที่ในการสัมภาษณ์ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในสาขาการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งสามารถรับชมวิดีโอการสัมภาษณ์ ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=KhM0X1c2yp8

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2564

สาขาการแพทย์

รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Kariko, Ph.D.)

รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอนเอ ฟาร์มาซูติคอล สหพันธรัฐเยอรมนี

รองศาสตราจารย์สมทบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ฟิลาเดลเฟีย

สหรัฐอเมริกา / ฮังการี

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.)

ผู้อำนวยการแผนกวิจัยวัคซีนโรคติดเชื้อ และศาสตราจารย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนชิลวาเนีย ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา

 

รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเซเก็ด ประเทศฮังการี

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นฝึกอบรม ณ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา กับนายแพทย์ แอนโทนี ฟอซี (Dr. Anthony Fauci) ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 สาขาการแพทย์

รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ มาใช้ในทางการแพทย์ โดยในปี พ.ศ.2549 ได้ร่วมกันค้นพบว่าการใช้นิวคลิโอไซด์ดัดแปลงช่วยลดปฏิกิริยาของเซลล์ต่ออาร์เอนเอแปลกปลอมได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เมสเซนเจอร์อาร์เอนเอแปลกปลอมที่ให้เข้าไปจากภายนอกเชลล์จะถูกกลไกต่อต้านไวรัสของเซลล์ตรวจจับและเมื่อพบอาร์เอนเอแปลกปลอมก็จะกระตุ้นกลไกต่าง ๆ ที่จะยับยั้งการแปลรหัสจากอาร์เอนเอและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ฉีดเช้าในร่างกายเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรค การค้นพบดังกล่าว

     รวมทั้งการศึกษาวิจัยต่อ ๆ มาของ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ที่ทำให้มีการนำซูโดยูริดีนมาใช้ในการสร้างเมสเชนเจอร์อาร์เอนเอ และการคิดค้นวิธีการในการทำเมสเชนเจอร์อาร์เอนเอที่มีซูโดยูริดีนให้บริสุทธิ์ เป็นรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19 รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว

ผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ทำให้เกิดวัคซีนโวิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

     ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Culllis, Ph.D.)

ศาสตราจารย์ ภาควิชาชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย, แวนคูเวอร์ แคนาดา

 

ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และทำงานวิจัยด้านชีวเคมีของไขมันที่มหาวิทยาลัยนี้ตลอดมาจนปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การนำส่งยาต้านมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อมะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดพิษต่อเนื้อเยื่อปกติ และอนุภาคไขมันที่ศาตราจารย์คัลลิสพัฒนาที่น่าสนใจมากที่สุด ได้แก่ อนุภาคไขมันที่มีไขมันที่สามารถทำให้มีประจุบวกได้ โดยไขมันดังกล่าวไม่มีประจุเมื่อยู่ในสภาพความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง แต่จะมีประจุบวกเมื่ออยู่ในสภาพเป็นกรด อนุภาคไขมันเหล่านี้ไม่ทำปฏิกิริยาและไม่เป็นพิษต่อเซลล์เนื่องจากไม่มีประจุ แต่เมื่อถูกน้ำเข้าสู่เซลล์ภายในเอนโดโชมซึ่งมีสภาพเป็นกรดก็จะเปลี่ยนเป็นมีประจุบวก ซึ่งจะทำให้หลอมเชื่อมกับเยื่อไขมันของเซลล์ที่มีประจุลบ การหลอมเชื่อมของเยื่อไขมันดังกล่าวทำให้มีการนำส่งส่วนประกอบภายในของอนุภาคไขมันเช้าสู่ไซโตปลาสซึมของเซลล์ วิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งกำลังใช้ในการควบคุมการแพร่จะบาดของโควิด-19 อยู่ในปัจจุบัน

     ผลงานของศาสตราจารย์ ปีเตอร์ คัลลิส นอกจากจะทำให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้มีวิธีการที่จะนำกรดนิวคลิอิกเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการนำเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคต ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก