ADS


Breaking News

พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลโควิด-19

    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 พบมีเด็กหรือครอบครัวได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก มีเด็กติดเชื้อรายวันเฉลี่ยกว่า 2,000 รายต่อวัน โดยมียอดเด็กติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่ 1 มกราคม –  20 สิงหาคม 2564 รวม 109,961 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.21 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (980,847 ราย) กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ลงพื้นที่ทำงานเชิงรุก เร่งให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มเติมเจ้าหน้าที่รองรับจำนวนการแจ้งเหตุโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการผนึกกำลังระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เปิดช่องทางการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 หรือ Mobile App คุ้มครองเด็ก หรือที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด หรือแจ้งผ่านอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ และที่ไลน์ @savekidscovid19 มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อเคสสู่ระบบการช่วยเหลือทันที

    นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ข้อมูลการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ โดยช่วงวันที่ 1 มกราคม – 26 กรกฎาคม 2564 ได้ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา ยากจน และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ จำนวน 5,343 ราย และในช่วงตั้งแต่ 27 กรกฎาคม - 20 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีเด็กติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและส่งผลกระทบรุนแรง ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบฯ รวม 3,083 ราย โดยประสานส่งตรวจเชื้อ 66 ราย ส่งต่อเข้ารักษา 136 ราย ประสานที่พักชั่วคราวหรือเข้าศูนย์พักคอย 106 ราย และช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ทั้งให้คำแนะนำปรึกษา 1,801 ราย ช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ 881 ราย มอบเครื่องอุปโภคบริโภค 889 ราย รับเข้าคุ้มครองชั่วคราว 4 ราย มอบชุดเวชภัณฑ์ 11 ราย ประสานกลับภูมิลำเนา 11 ราย และประสานส่งต่อหน่วยที่เกี่ยวข้อง 277 ราย

    ในส่วนของเด็กกำพร้า ณ 20 สิงหาคม 2564 มีจำนวน 210 ราย โดย 5 จังหวัดที่มีเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 สูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา 16 ราย กาฬสินธุ์ 15 ราย ปทุมธานีและร้อยเอ็ด 13 ราย กำแพงเพชรและสมุทรปราการ 10 ราย และชัยภูมิ 9 ราย กรมกิจการเด็กและเยาวชนมุ่งเน้นการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกมิติปัญหา โดยได้ให้คำปรึกษา 117 ราย มอบเครื่องอุปโภคบริโภค 75 ราย มอบเงินสงเคราะห์ 66 ราย ประสานขอรับทุนและขอความช่วยเหลือหน่วยงานอื่น 52 ราย มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก 16 ราย จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ 3 ราย ประสานหาพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง 2 ราย รับเข้าอุปการะชั่วคราว 2 ราย ช่วยเหลืออื่น ๆ 1 ราย และอีก 49 ราย อยู่ในระหว่างติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อกำหนดแนวทาง การดูแล ที่สำคัญมีการส่งต่อข้อมูลให้กรมสุขภาพจิตเพื่อให้คำปรึกษาและดูแลสภาพจิตใจให้กับเด็ก

    นอกจากนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ประสานความร่วมมือทีมสหวิชาชีพ อาสาสมัคร และภาคส่วนต่าง ๆ ในการให้คำแนะนำปรึกษา การดูแลสภาพจิตใจแก่เด็กและครอบครัว จัดเตรียมสถานที่รองรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงได้ประสานส่งเข้ารับการดูแลและกักตัว 14 วัน ในสถานที่กักตัว (State Quarantine) เด็กที่พ้นระยะกักตัว 14 วันที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปเลี้ยงดู จะประสานญาติรับเด็กไปดูแล หรือรับเด็กเข้าดูแลชั่วคราวในสถานรองรับเด็กที่จัดเตรียมไว้   4 แห่ง รองรับเด็กได้ 160 ราย แต่หากพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเสียชีวิต จะดำเนินการให้เด็กเข้าสู่ระบบการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบของครอบครัวเครือญาติ ครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวบุญธรรม หรือสถานสงเคราะห์ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ตลอดจนมีการติดตามให้ความช่วยเหลือแก่เด็กอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กได้รับการปกป้องดูแล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป นางสุภัชชา กล่าวทิ้งท้าย