ADS


Breaking News

6 ปี แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

     ดร.สาธิต  ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า จากอดีตเมื่อกว่า 2.5 ล้านปีก่อน มนุษย์ใช้สัตว์เพียงเพื่อเป็นอาหาร ด้วยวิธีการล่า ต่อมาก็ใช้สัตว์เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม และมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อรับประทานเนื้อ นม ไข่ ใช้ประโยชน์จากสัตว์ กว่า 10,000 ปี และมีการใช้สัตว์เพื่อการศึกสงคราม มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการค้นพบกะโหลกสุนัขในสุสานโบราณ ที่หมู่เกาะออร์กนีย์ ทางเหนือของสกอตแลนด์ ซึ่งคาดว่ามีอายุกว่า 4,000 ปี สันนิษฐานว่า สุนัขถูกเลี้ยงและฝึกให้เป็นทั้งเพื่อนและเฝ้าบ้านและสุนัขเหล่านั้นอาจช่วยด้านการเลี้ยงแกะอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการค้นพบมัมมี่ แมวอายุกว่า 4,000 ปีที่สุสานที่เพิ่งค้นพบในอียิปต์ กลุ่มพีระมิดของฟาโรห์ยูเซอร์คาฟ พบโลงหินทั้งหมด 7 โลง ในจำนวนนี้ 3 โลงมีมัมมี่แมวอยู่ข้างใน

     แนวความคิดเกี่ยวกับสัตว์มีวิวัฒนาการเป็นลำดับ เช่น แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ (Animal Right) มองว่าสัตว์ควรอยู่อย่างอิสระ มนุษย์ไม่ควรนำสัตว์มาใช้งานหรือถูกฆ่าเพื่อกินเนื้อและทรมาน สัตว์ควรได้รับการปลดปล่อยจากมนุษย์ หรือกลุ่มแนวคิดด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) มองว่าสัตว์นั้นมนุษย์ สามารถใช้งานได้ตามสมควร แต่ต้องมีขอบเขตการใช้ อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยการหามาตรการ วิธีการ แนวทางดูแลสัตว์นั้น ไม่ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไม่มีเหตุสมควร สำหรับแนวทางการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีพื้นฐานของหลัก 5 ประการ (The Five Freedoms) ประกอบด้วย 1.อิสรภาพจากความหิว กระหาย (Freedom from hunger and thirst) 2.อิสรภาพจากความไม่สะดวกสบาย (Freedom from discomfort) 3.อิสรภาพจากความเจ็บปวดและอันตราย (Freedom from pain, injury and diseases)  4.อิสรภาพจากความกลัวและความเครียด (Freedom from fear and distress) 5.อิสรภาพที่จะแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ (Freedom to express normal behavior) หลัก 5 ประการดังกล่าว จึงเป็นหลักการในเนื้อหาสาระที่สำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

     วันที่ 27 ธันวาคม 2563 นี้ จะครบรอบ 6 ปี ที่มีการประกาศและมีผลบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาก็มีกรณีการร้องทุกข์กล่าวโทษและมีคดีที่เกี่ยวข้องกับสัตว์รวมทั้งคำพิพากษา ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น คดีใช้มีดฟันปากสุนัข ประเดิม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ ศาลตัดสินให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท แต่โทษจำคุก ให้รอลงอาญา คดีวางยาฆ่าสุนัข ศาลพิพากษาลงโทษตามความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณฯ  และทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษกระทงละ 6,000 บาท สองกระทง รวมเป็นค่าปรับ 12,000 บาท โทษจำคุก 4 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และจำเลยไม่มีความผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนโทษปรับลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับแค่ 6,000 บาท  คดีซื้อสุนัขและมาฆ่าด้วยวิธีการทารุณ จำนวน 14 ตัว ศาลพิพากษา จำเลยผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ โดยจำเลยรับสารภาพ ปรับ 6,000 บาท คงจำคุก 1 ปี โทษจำคุก รอลงอาญา 1 ปี คดีคนทุบหัวลูกแมว ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดี ตัดสิน จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท รับสารภาพเหลือกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ10,000บาท โทษจำคุก รอลงอาญา 1 ปี ควบคุมความประพฤติ ให้รายงานตัว ทุก ๆ 3 เดือน ภายในเวลา 1ปี พร้อมชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ตามยอดจริง และชำระค่าเสียหายจากข้อหาทำให้เสียทรัพย์ คดีโพสต์คลิปกินสุนัข พิพากษาตัดสิน จำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นคดีแรก จำเลยที่ 1 มือโพสคลิปฆ่าโหดสุนัขในเฟชบุ๊ค จำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา จำเลยที่ 2 มือสังหารสุนัขด้วยความโหดเหี้ยมไร้สำนึกจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา คดีค้าสุนัข ศาลพิพากษาตัดสิน จำเลยที่ 1  จำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทั้งสองคนไม่มีโทษปรับ คดีการใช้ปืนยิงสุนัข ศาลพิพากษาว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานพกพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท ฐานการกระทำการทารุณสัตว์ จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท รวมโทษจำคุกเป็นเวลา 14 เดือน ปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมให้ควบคุมความประพฤติ เป็นเวลา 1 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 4 ครั้ง และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง กรณีการใช้อาวุธมีดและเหล็กทำร้ายสุนัข  ศาลพิพากษาให้จำคุก 4 เดือนแต่จำเลยรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน  แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย ศาลจึงไม่รอการลงโทษ แต่การกระทำนั้นเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบที่บุตรสาวเคยถูกสุนัขกัด ศาลจึงเปลี่ยนจากโทษจำคุกให้เป็นกักขังแทนและจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษา คดีการโยนสุนัขลงจากที่สูงจนตาย ศาลพิพากษาตัดสินในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมฯ และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานกระทำให้เสียทรัพย์ลงโทษจำคุก 4 เดือน คำให้การเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน แต่พฤติกรรมของจำเลย ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจนตาย และทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ ไม่มีเหตุให้ลดโทษให้และไม่รอการลงโทษ คดีการใช้อาวุธมีดและเหล็กทำร้ายสุนัข  ศาลพิพากษา จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พิพากษาให้จำคุก 4 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน การกระทำของจำเลยอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายศาลจึงไม่รอการลงโทษให้ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่สุนัขเคยกัดบุตรสาว จึงก่อเหตุไปเพราะบันดาลโทสะ ศาลจึงเปลี่ยนโทษจำคุกให้เป็นกักขัง จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป  คดีการฆ่าแมวที่รับมาอุปการะ คดีนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ มาตรา 20 ประกอบมาตรา 31 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 381 ให้ลงโทษบทหนักสุด ให้จำคุก 9 กระทง กระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 36 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 9 กระทงๆ ละ 2 เดือน โดยรวมจำคุก 18 เดือน แต่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้โทษจำคุกมาก่อน จึงไม่มีเหตุแห่งการลงโทษ คดีนี้จำเลยได้ยื่นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

     คดีนำช้างมาเร่ร่อนและตกท่อจนโดนไฟดูดตาย ศาลแขวงพิพากษาจำเลยลงโทษฐานร่วมกันทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ตาม ป.อาญา ม.90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 16,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อาญา ม. 78 คงจำคุก 7 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ตาม ป.อาญา ม.56 คดีสุนัขสร้างความเสียหาย ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ให้เจ้าของสุนัขชดใช้เป็นเงินจำนวน 109,576 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เจ้าของสุนัขขอยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาจำเลยวางเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อศาลจำนวน 20,000 บาท คดีสุนัขจรจัดไปสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำวินิจฉัยตัดสิน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 คดีนำช้างมาเร่ร่อน มีคำพิพากษาฎีกา ที่ 2875/2561 ให้ลงโทษจำเลยจำคุกและปรับจำเลย และให้ริบช้างตกเป็นของแผ่นดิน  เป็นต้น

     ตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการประกาศใช้กฎหมาย สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น

     ด้านกฎหมาย มีการออกกฎหมายลำดับรองที่ต่อเนื่องกว่า 10 ฉบับ และมีกฎหมาย ในลำดับประกาศกระทรวง อีก 4 ฉบับ ที่กำลังจะประกาศใช้ ประกอบด้วย เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานที่เพาะพันธุ์สุนัข การจัดสวัสดิภาพแมวในสถานที่เพาะพันธุ์แมว การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จำหน่ายสัตว์ และมีร่าง พ.ร.บ.ช้างแห่งชาติ ที่กำลังศึกษาและยกร่างอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น

     ด้านสังคมและการศึกษา กฎหมายฉบับนี้ยังช่วยยกระดับความคิด ค่านิยมในสังคมในด้านการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมและมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์มากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดการศึกษาอบรม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และปลูกจิตสำนึกกับเด็กเยาวชนและประชาชนอย่างต่อเนื่องในหลากหลายช่องทาง มีการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น มีผลงานที่ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

     ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นมารองรับกฎหมายฉบับนี้ เช่น กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ รวมถึงมีการกระจายอำนาจ แต่งตั้งให้ราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ฯ รวมทั้งมีการจัดให้ขึ้นทะเบียนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ และสถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมายอีกด้วย ในส่วนภาคประชาชน มีการก่อตั้งองค์กรภาคเอกชนขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงประชาชนมีความตื่นตัว มีเครือข่าย ในการช่วยเหลือสัตว์มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีคณะกรรมการตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ คณะอนุกรรมการคณะทำงานในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ของกรมปศุสัตว์ รวมถึง ปัจจุบัน มีคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ สภาผู้แทนราษฎร ในการศึกษาสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เป็นต้น

     จุดเน้นด้านอื่น ๆ คือการแก้ไขปัญหาของสัตว์อย่างถูกต้องเหมาะสม ครบวงจร ตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางสังคม เช่น ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ปัญหาสัตว์จรจัด ปัญหาสัตว์เลี้ยงที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ การป้องกันโรคต่าง ๆ ที่สัตว์เป็นพาหะ เป็นต้น

     ข้อเสนอแนะ ควรแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติวิธี ใช้กระบวนการทางกฎหมายที่มีในปัจจุบัน และใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งการบูรณาการทรัพยากรการบริหารร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและเสนอให้มีการศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง การฝังไมโครชิพ วิธีการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์จรจัด การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้งบประมาณในการช่วยเหลือสัตว์หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งการพัฒนาสถานกักสัตว์เลี้ยงของท้องถิ่นและเอกชน การเพิ่มบทบาทขององค์กรภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องเหมาะสม ในการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย

     “กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรม แต่ผู้ใช้กฎหมายต้องสร้างและรักษาความยุติธรรมรวมทั้งคุณธรรมทางกฎหมายให้เกิดขึ้น ทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ให้สมดังเจตนารมณ์ ของ พระราชบัญญัติป้องการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์” ต่อไป