ศูนย์เฟคนิวส์ ย้ำ! ให้ ปชช.รู้เท่าทันข่าวปลอม เผยผลงาน 1 ปี "Anti Fake News"
เปิดผลงานศูนย์เฟคนิวส์ใน 1 ปี เน้นให้ปชช.รู้เท่าทันข่าวปลอม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดผลงานโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ตลอด 1 ปี เพื่อหนุนคนไทยให้รู้เท่าทันข่าวปลอม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานกิจกรรมแถลงข่าว 1 ปี กับผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center) โดยมี ผู้บริหารกระทรวง ดีอีเอส ศปอส.ตร. และ นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมในการแถลงข่าว ที่ ห้อง Ballroom (บอลรูม) โรงแรม Park hyatt Bangkok (พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ)
กิจกรรมของโครงการนั้น มีขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และสร้างสรรค์ สามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องผู้บริโภคควรเลือกเสพข่าวจากหลายช่องทาง ไม่หลงเชื่อข่าวจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รู้เท่าทันข่าวปลอม และมีสติในการเสพข่าว และมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอมและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้สังคมได้ทราบ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในและสร้างการรับรู้เพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถรับมือกับข่าวปลอมได้ แนะก่อนแชร์ข่าวต้องพิจารณาให้ชัดเจนก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงความคลาดเคลื่อนของข้อมูล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตลอด 1 ปี กับผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ต่อต้าน ข่าวปลอม สำหรับข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2562 - 18 ธ.ค. 2563 นั้น จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 62 - 18 ธ.ค. 63 ดังนี้ ข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 39,209,284 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 20,829 ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 7,420 เรื่อง
“ภาพรวมผลการเนินการของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ภาพรวมของข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 62 - 18 ธ.ค. 63 มีจำนวนข้อความทั้งหมด 39,209,284 ข้อความ Social Listening 38,956,319 ข้อความ Line Official 238,583 ข้อความ Facebook Page 11,172 ข้อความ Official Website 3,210 ข้อความ โดยช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุดอันดับ 1 คือ Social Listening Tools 99.35% รองลงมาคือ Line Official 0.61%, Facebook 0.03% และ Official Website 0.01% ตามลำดับ และมีจำนวนยอดผู้ติดตามตามช่องทางต่าง ๆ ดูจากยอดผู้ติดตามเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 สูงสุดทางเว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com มียอดผู้เข้าชมจำนวน 4,161,914 ผู้รับชม รองลงมาทางช่องทางช่องทางไลน์ที่ Line@antifakenewscenter มียอดผู้ติดตามจำนวน 2,391,281 ผู้ติดตาม ช่องทาง Facebook: Anti-Fake News Center มียอดผู้ติดตามจำนวน 68,324 ผู้ติดตาม ช่องทาง Twitter @AfncThailandมียอดผู้ติดตามจำนวน 7,996 ผู้ติดตามศูนย์รับแจ้งข่าวปลอม (สป.ดศ.) สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 โดยมีเครือข่ายผู้ประสานงานภาครัฐ องค์กรอิสระ เพื่อดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของศูนย์ประสานงานฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 400 คน ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม”
“นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของเพจอาสาจับตาออนไลน์ โดย ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center (CSOC) กับ DE มีสถิติการรับแจ้งเหตุเพจอาสาจับตาออนไลน์ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม -17 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ผลรวมทั้งสิ้นค่าเฉลี่ยต่อวัน 39,300 เรื่อง 280 เรื่อง แบ่งประเภทของการรับแจ้งเหตุของเพจ ดังนี้ เกี่ยวกับความมั่นคง6,855 (42.72%) การพนันออนไลน์ 4,241 (26.43%) ความมั่นคง / การเมือง2,845 (17.73%) อื่น ๆ 1,756 (10.94%) การหลอกลวง191 (1.19%) ข่าวปลอม 6.101 (0.63%) ลามก59 (0.37%)”
“ที่ผ่านมา การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ในการตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน และได้ร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมทุกกลยุทธ์เพื่อให้ประชาชนคนไทยรู้เท่าทันสื่อลวง ทั้งในแง่ของการจัดการกับข่าวปลอม และการปราบปรามดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยเน้นข่าวที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4 กลุ่มข่าว คือ กลุ่มภัยพิบัติ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ และกลุ่มนโยบายรัฐบาล
ดังนั้นเพื่อให้มีการใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน และสร้างสรรค์ สามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องผู้บริโภคควรเลือกเสพข่าวจากหลายช่องทาง และอยากรณรงค์ให้ประชาชนใช้วิธีการ 12 ข้อดังต่อไปนี้ ในการตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่ 1. อ่านข่าวทั้งหมดโดยไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว 2. ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่ 3. ตรวจสอบแหล่งที่มาตัวตนของผู้เขียน 4. ดูความผิดปกติของตัวสะกดภาษาที่ใช้หรือการเรียบเรียง 5. พิจารณาภาพประกอบข่าว 6. ตรวจสอบวันที่ของการเผยแพร่ข่าว 7. ตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ 8. หาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น 9. ตรวจสอบว่าข่าวสารที่ส่งต่อกันมามีวัตถุประสงค์ใด 10. พิจารณาความสมเหตุสมผลของข่าว 11. ตรวจสอบอคติของตนเอง และ 12. หากมีคำถามหรือข้อสงสัยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ”
“ในปี 2564 กระทรวง ดีอีเอส มีแผนการดำเนินการสร้างการรับรู้เท่าทัน โดยมุ่งสู่เป้าหมายสร้างการรับรู้เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ รู้เท่าทันข่าวปลอม โดยจะมีแผนงานกิจกรรมดำเนินงาน ดังนี้ ผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เช่น วิดีโอต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ จะจัดทำขึ้น ที่สอดคล้องกับ 4 กลุ่มข่าวของศูนย์ฯ สื่อไวรัลที่อยู่ในกระแสของสังคม หรือเป็นสื่อไวรัลที่ประชาชนในความสนใจในขณะนั้น การจัดอบรมให้กับผู้ประสานงาน อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคคลากรมากขึ้น พัฒนาระบบ ในการใช้ตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามยุคสมัย ขอความร่วมมือกับสำนักข่าว เผยแพร่สื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ วารสาร นิตยสาร สื่อออนกาวน์ พัฒนาคู่มือการแจ้งข่าวปลอมสำหรับประชาชน และผู้ประสานงาน พัฒนาช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ เพิ่มสติ๊กเกอร์ไลน์ การพัฒนาช่องทางการติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนกับศูนย์ฯ และผู้ประสานงานกับศูนย์ฯ ให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น”