ADS


Breaking News

บ้านตะเคียนทอง หมู่ ๔ ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี “กิน เล่น เป็น อยู่ เรียนรู้วิถีชอง”

ประวัติความเป็นมา
เดิมทีชื่อว่าบ้านตายศ เพราะบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านติดอยู่กับคลองตายศ ต่อมาไดเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านตะเคียนทอง เพราะในอดีตนั้นมีต้นตะเคียนทองขึ้นหนาแน่นมาก มีขนาดใหญ่ ๔-๕ คนโอบ และมีรากใหญ่มาก บางคนเล่าว่ามีต้นตะเคียนทองอยู่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ ๓ หลังวัดตะเคียนทอง

กลุ่มทำขนมจีน (แป้งหมัก)

ขนมจีนแป้งหมัก เส้นจะไม่ขาวสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่าไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง วิธีการทำแบบดั่งเดิมคือ เอาข้าวมาแช่น้ำราดทุกๆ วัน เช้าเย็นจนข้าวนุ่มเอามาโขลกด้วยครกกระเดื่อง แล้วนำมาต้ม นวดจนเหลว แล้วกรองเอาทำเส้น รสชาติของเส้นจะเหนียวมีกลิ่นเฉพาะตัว แม้ราดน้ำยาหรือน้ำแกง เส้นจะยังเหนียวนุ่ม

ต้นคลุ้ม-คล้า

คลุ้มและคล้าเป็นพืชชนิดหนึ่งชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่แฉะใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะลำห้วย ลำคลอง และนาข้าว ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของคนชอง คนชองสมัยก่อนจึงมักนำมาใช้จักรสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เสื่อ กระบุง กระด้ง หรือทำเชือกมัดสิ่งของในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

น้ำตกตาตาบ

น้ำตกตาตาบเป็นสถานที่พักผ่อนยอดฮิตของคนในชุมชน บรรยากาศดี เพลินกับเสียงน้ำตกไหลไม่ขาดสาย มีธารน้ำไหลมาจกบนภูเขา น้ำเย็นสดชื่น สามารถลงเล่นน้ำและแช่ตัวได้ แมกไม้นานาชนิด ทั้งสวนผลไม้ สวนยางพารา รวมทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยเฉพาะต้นคลุ้ม-คล้า

ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยแห้ง)

ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยแห้ง) เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทดลองทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรโดยผ่านการเรียนรู้ พัฒนาต่อยอด จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ทำให้มั่นใจได้ว่า ปุ๋ยที่ใส่บำรุงปลอดภัยสารเคมี

กลุ่มน้ำปลา

กลุ่มน้ำปลา เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกแม่บ้านสตรี ผ่านการคัดสรรส่วนผสมชั้นดีจึงได้เป็นน้ำปลาคุณภาพ โดยใช้ปลาทะเล ๗๐% เกลือทะเล ๓๐% แล้วผ่านการหมักในบ่อใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๘ เดือน ซึ่งกว่าจะได้น้ำปลาคุณภาพมาบริโภค จะต้องผ่านการสร้างสมประสบการณ์การเข้าใจกระบวนการผลิตน้ำปลาอย่างลึกซึ่งมากกว่าใคร

วัดตะเคียนทอง
หลวงพ่อเพชรอดีตเจ้าอาวาสวัดตะเคียนทองเป็นที่นับถือบูชาเลื่อมใสของคนในตำบลตะเคียนทองเป็นอย่างมาก กล่าวกันว่า หลังจากได้อายุครบกำหนดตามแบบฉบับลูกผู้ชายไทยได้เกณฑ์ทหารจนปลดมา ท่านจึงมีความตั้งใจบวชเรียนในบวรพระพุทธศาสนา และการประพฤติพรหมจรรย์ ถือครองเพศบรรพชิตปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมาตลอดจวบจนมรณภาพ
ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ตะเคียนทอง

สร้างขึ้นตามตามความเชื่อของชาวบ้าน “บ้านตะเคียนทอง” เพราะในอดีตบริเวณนี้มีต้นตะเคียนขึ้นหนาแน่น ซึ่งต้นตะเคียนเป็นต้นไม้ที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และมีผีสิงอยู่ตามตำนานพื้นบ่านของไทย สมัยก่อนนั้นไม่มีชาวบ้านกล้าเดินผ่าน เพราะว่ามีผีหลอกหลอนคนที่ผ่านไปมา จึงได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ตะเคียนประจำหมู่บ้านขึ้น จากนั้นก็ไม่ได้มีผีหลอกหลอนชาวบ้านอีกเลย มีแต่บันดาลโชคลาภ ความปลอดภัยในชีวิต หรือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากมาขอก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ จนกลายเป็นสถานที่เคารพกราบไหว้จนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ชอง
พิพิธภัณฑ์ชอง เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเรื่องราว ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ โดยชองเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของคนในภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) และบางส่วนของประเทศกัมพูชา มีศิลปะวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ที่อยู่อาศัยและอาหารพื้นบ้านก็คงความเป็นเอกลักษณ์ วิถีชีวิตเรียบง่ายมีการประยุกต์ให้เข้ากับทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีคุณค่า คนชองมีฝีมือในการต่อเรือเพราะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการเดินทางด้วยเกวียน และที่โดเด่นคือ ภาษาพูด ใช้ในการสื่อสารของคนในชนเผ่า ปัจจุบันได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ (เนื่องจากในสมัยอดีตไม่มีการจดบันทึก ไม่มีภาษาเขียน)

ผลิตภัณฑ์

น้ำปลา  จักสานไม้ไผ่   น้ำสมุนไพร ทุเรียนทอด/กล้วยฉาบ สมุนไพรแห้ง หมูแดดเดียว เครื่องปรุงรสแห้ง   ข้าวกล้อง เย็บปักถักไหมพรม(ผ้าพันคอ) ปุ๋ยธรรมชาติ
ข้อมูลติดต่อ
บ้านตะเคียนทอง หมู่ ๔ ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี


คุณหงน   โทร. ๐๘๗ ๑๕๐ ๘๑๙๙