บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ ๒ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี “ล่องแพเปียก กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวหมู่บ้านไร้แผ่นดิน”
ประวัติความเป็นมา
บ้านปากแม่น้ำเวฬุ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี หรือชื่อที่นักท่องเที่ยวรู้จักทั่วกัน คือ หมู่บ้านไร้แผ่นดิน เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑๖๐ ปี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านคือชาวจีน โดยการตั้งรกรากที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามแนวของป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตรงบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ การประกอบอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ในลักษณะประมงพื้นบ้าน
ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วประมาณ ๓ ครั้ง เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมอายุของศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุมีอายุประมาณ ๑๖๐ กว่าปี สืบเนื่องด้วยคนในชุมชนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญต่อคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนทั้งการประกอบอาชีพ ที่ชาวบ้านจะไปขอให้เดินทางออกทะเลให้มีความปลอดภัยและได้อาหารทะเลกลับมาเยอะๆ นอกจากนี้ยังขอพรในเรื่องสุขภาพให้แข็งแรง หายจากการเจ็บป่วย ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาลาเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ
- ประเพณีตรุษจีน
- แซยิก (วันเกิดเจ้าพ่อ)
- ชิกกาปั๊ว (วันไหว้)
- เท่งอัน (การไหว้แก้บนจะมีทุกวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนของทุกปี กิจกรรมวันแรกของงานจะมีการแสดงลิเก และวันที่สองจะมีกิจกรรมแห่เจ้ารอบคลอง
- ทิ้งกระจาด
วัดบางชัน หรือวัดอรัญสมุทธาราม
ครั้งแรกตั้งเป็นสำนักสงฆ์แรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ และได้รับอนุญาต (วิสุงคามสีมา) ให้จัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีชื่อเรียกว่า "วัดอรัญสมุทธาราม" ซึ่ง อรัญ แปลว่า ป่าและน้ำ ธาราม แปลว่า ที่อยู่สบาย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางชันเพราะต้องการให้ตรงกับชื่อหมู่บ้านและตำบลบางชัน ซึ่งที่บริเวณวัดบางชันจะมีพิพิธภัณฑ์ของโบราญ เรือเก่า (เรือขุด) และวิสุงคามสีมา สมัยรัชกาลที่ ๕
ชมฝูงเหยี่ยวแดง
การชมฝูงเหยี่ยวแดงหัวขาว เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การที่มีเหยี่ยวแดงในบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ จึงหมายถึงความสมดุลของธรรมชาติของผู้คน สัตว์ และป่าในแถบนี้ การไปถึงยังจุดให้อาหาร อาจเป็นเรือหางยาว หรือโฮมสเตย์มีบริการแพเปียก ลากไปยังจุดชมเหยี่ยวแดง การให้อาหารเหยี่ยวจะมีเพียงวันละครั้ง ในช่วงประมาณ ๓-๔ โมงเย็น
ชมทะเลแหวก หาดทรายสีดำ
ทะเลแหวก ที่บางชัน มีความยาว ขนาด ๒๐๐ เมตร กว้าง ๔ เมตร เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความพิเศษของทะเลแหวกที่นี้คือ หาดทรายสีดำ ที่สามารถนำมาขัดผิว เหมือนกับการทำสปาผิวเพื่อทำให้ผิวนุ่ม ลื่น
ศึกษาวิถีชีวิตชุมชน การประกอบอาชีพของชาวบ้านการทำปะมง
การทำกุ้งแห้ง เรียนรู้ขั้นตอนกว่าจะเป็นกุ้งแห้ง ตั้งแต่การนำกุ้งสดทั้งตัวมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปนึ่งทั้งเปลือกประมาณ ๔๕ นาที แล้วนำไปตาก ๒ แดด หลังตากแล้ว นำกุ้งใส่ในถุงผ้า แล้วใช้ถุงผ้าตีพอให้เปลือกกุ้งหลุดจากตัว จากนั้นจึงนำมาร่อนเอาเปลือกออก
ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชน
ด้วยคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ซึ่งเป็นการประมงพื้นบ้านชาวบ้านได้มีการนำเอาผลผลิตที่ได้จากการประกอบอาชีพนำมาแปรรูป โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนในชุมชน ได้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความอร่อย สะอาด สินค้า โดดเด่นตามเอกลักษณ์ตามฉบับชาวประมงแท้ๆ ประกอบด้วยกุ้งแห้ง กะปิ ปลากระบอกแดดเดียว ปลากระตักแห้ง น้ำพริกกุ้งแห้ง กุ้งต้มหวาน ปลาเค็ม เคยต้มตากแห้ง น้ำเคยไข่ หมึกแห้ง
ข้อมูลติดต่อ
บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ ๒ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
คุณไพริน โอฬารไพบูลย์ โทร. ๐๙๐ ๕๐๑ ๓๐๒๓