ADS


Breaking News

“มูลนิธิเพื่อคนไทย-ม.หอการค้าไทย” เปิดผลวิจัยฟังเสียงคนไทย

“5 หมื่นคน”
อันดับ 1 ฝันอยากเห็น “รู้รักสามัคคี”
พร้อมเชื่อมต่อกลไกการปฏิรูปภาคพลเมือง
“มูลนิธิเพื่อคนไทย” ร่วมกับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลวิจัยโครงการ “ออกเสียงออกแบบประเทศไทย”  สำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศ 77 จังหวัด กว่า 50,000 ตัวอย่าง  ถึงภาพฝันที่อยากเห็น และสิ่งที่สามารถลงมือทำ ปรากฏว่า 5 อันดับแรกเป็น “รู้รักสามัคคี-เศรษฐกิจแกร่ง-ประเทศไร้คอร์รัปชัน-ยุติธรรมไม่มีชนชั้น-เกษตรกรอยู่ดีกินดี” พร้อมเปิดเวทีความคิด เชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วนร่วม    ลงมือทำผ่านกลไกการปฏิรูปที่ริเริ่มสร้างสรรค์โดยภาคประชาชนที่มีหลากหลาย ทั้ง “พลเมืองเสวนา-ปลุกพลังเปลี่ยนไทย-ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” และอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ร่วมกันแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบโดยพลังพลเมือง


นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นโครงการ “ออกเสียงออกแบบประเทศไทย” ในงานเวทีความคิด “เปิดผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทย : สู่พลังพลเมืองร่วมปฏิรูป”  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้มีส่วนร่วมเสนอความฝันที่อยากเห็น ร่วมกำหนดทางเดินสู่ประเทศในฝัน และสิ่งที่พร้อมจะ “ลงมือทำ”  โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ 77 จังหวัด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2558 รวมทั้งสิ้น 52,947 ตัวอย่าง โดย 7 ความฝันแรกที่คนไทยฝันอยากเห็นมากที่สุด ได้แก่



ลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” ร้อยละ 28.3   
ลำดับที่ 2 “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” ร้อยละ 25.7  
ลำดับที่ 3 “ประเทศไทยไร้คอร์รัปชันสิ้นเชิง”  ร้อยละ 9.7  
ลำดับที่ 4 “ยุติธรรมไม่มีชนชั้น ใครๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม” ร้อยละ 8.1  
ลำดับที่ 5 “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดี” ร้อยละ 5.9   
ลำดับที่ 6 “ประชาชนมีอำนาจเหนือนักการเมือง”  ร้อยละ 5.7  
ลำดับที่ 7 “การศึกษานำไปสู่การสร้างปัญญาที่แท้จริง” ร้อยละ 3.8  


ทั้งนี้คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝัน ได้ให้ข้อเสนอสำหรับทางเดินสู่ประเทศไทยในฝัน เพื่อทำให้ฝันนั้นเป็นจริง และ “ตัวคุณ” จะทำอย่างไรในการมีส่วนทำให้เพื่อฝันนั้นเป็นจริง  เฉพาะฝันลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” นั้น   มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้  (1)  สร้างความปรองดอง    มีความรักสามัคคีกัน ไม่แบ่งฝ่าย ร้อยละ 32.8  (2) จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสามัคคี และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 16.5 และ (3)  พัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประชาชน พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 10.0


นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยเปิดเผยว่า จากผลวิจัย “ออกเสียง ออกแบบประเทศไทย” เมื่อเทียบกับผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” ที่มูลนิธิเพื่อคนไทยได้ทำแบบสอบถามความเห็นประชาชน 1 แสนชุด 3 ปี ต่อเนื่องกันมาทุกปีกระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2557 นั้น  สามารถสะท้อน “จุดร่วม” ของ “ปัญหาสังคมไทย ได้ 3 ประการ ได้แก่ (1) คนไทยต้องการการอยู่ร่วมแบบสันติและมีความอยู่ดีมีสุข (2) ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมจะลงมือทำ แต่ยังขาดช่องทางการลงมือปฏิบัติ (3) ปัญหาสังคมมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งเยียวยา ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาให้เด็กไทย เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ต้องเร่งปลูกฝัง   ไม่เช่นนั้นปัญหาคอร์รัปชัน  จะกัดกร่อนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ


“เพราะปัญหาประเทศมีขนาดใหญ่เกินไป และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือให้คนจำนวนมากสามารถลงมือทำร่วมกันได้ จะยิ่งช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่"  ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ คนไทยกล่าวและว่ากลไกหรือเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีมากมายที่ประชาชนสามารถร่วมลงมือทำได้ในบทบาทต่างๆ เช่น บทบาทของนักลงทุน มีกลไกอย่าง กองทุนคนไทยใจดี, บทบาทนักบริจาค มีเวบไซต์เทใจ.คอม, ร้านปันกัน  บทบาทพลเมืองต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ,หลักสูตรโตไปไม่โกง และอีกหลายโครงการเพื่อสังคม  ล่าสุด ยังมีโครงการ “พลเมืองเสวนา” ,โครงการ “ปลุกพลังเปลี่ยนไทย” และ “ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรและความร่วมมือระดับประเทศเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ รวมถึงสามารถวัดผลกระทบทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม


รศ.ดร. จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลวิจัยมีทำให้มีความหวังขึ้น เพราะในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมบอบช้ำกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เสียดายที่ผลวิจัยไม่สะท้อนว่าคนไทยมีความตื่นตระหนักในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มากนัก หลักสำคัญของการปฏิรูปก็คือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ต้องทำในทุกมิติของสังคม


นพ. พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำเวทีสร้างเป้าหมายร่วมของคนในชาติ โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย 900 เวทีทั่วประเทศแต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วม 1,000 คน ปรากฏว่า เสียงสะท้อนของคนไทย 90,000 คน สอดรับกับผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทย กล่าวคือ ประชาชนเห็นด้วยกับการมีความสามัคคีปรองดองกว่าร้อยละ 90 วันนี้ถึงเวลาที่ภาคประชาสังคมต้องนำภาครัฐโดยการตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนหรือสังคมที่ตนอยู่ด้วยตัวเอง ไม่รอภาครัฐเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์


ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นภาพฝันที่คนไทยอยากเห็นนั้นสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปของประเทศด้านต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องความปรองดอง การลดความขัดแย้ง  และความตื่นตระหนักในปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กลไกอย่างโครงการพลเมืองเสวนา(www.citizenforum.in.th) ทำหน้าที่เป็นช่องทางแสดงออกถึงพลังพลเมืองสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชัดเจนมากในเรื่องงประชาธปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 1,000 คนของเครือข่ายพลเมืองเสวนาเสียงดังขึ้นและไปทำงานเชื่อมต่อกับกลไกการปฏิรูปภาคพลเมืองอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศหรือปลุกพลังเปลี่ยนไทย หรืออื่นๆ  พลังนี้มีอยู่จริงและพร้อมเป็นสารตั้งต้นผลักดันให้เกิดการปฏิรูป


อนึ่ง โครงการ พลเมืองเสวนา หรือ “Citizenforum” (www.citizenforum.in.th) : ชุมชนของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizen) ผู้สนใจประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เกิดความก้าวหน้า สร้างพื้นที่กลางของพลเมืองในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็น ใช้สิทธิการแสดงความเห็นในฐานะพลเมืองต่อการปฏิรูปประเทศ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้


โครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย (www.inspiringthailand.org) : กลไกการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยมี 4โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างเป้าหมายร่วมของคนในชาติ ผ่านเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัด  2.  โครงการ “ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” 3.“โครงการเครือข่ายผู้นำแห่งอนาคต  4.โครงการสื่อสารและโครงการสร้าง Active Citizen


สามารถดาวน์โหลดผลวิจัยออกเสียงออกแบบประเทศไทยฉบับเต็มได้ที่http://www.khonthaifoundation.org/files/mediac/50_1PPT-1Khonthaivoice0708%20Final.pdf


รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยความร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นโครงการ “ออกเสียงออกแบบประเทศไทย” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้มีส่วนร่วมเสนอความฝันที่อยากเห็นในอนาคต ร่วมกำหนดทางเดินสู่ประเทศไทยในฝัน และสิ่งที่คนไทยพร้อมจะ “ลงมือทำ” เพื่อทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง โดยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ 77 จังหวัด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2558 รวมจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 52,947 ตัวอย่าง ประเด็นสำคัญที่ค้นพบ คือ
ประเทศไทยในฝันที่คนไทยอยากเห็นมากที่สุด 7 ความฝัน ได้แก่
ลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” (ร้อยละ 28.3)
ลำดับที่ 2 “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” (ร้อยละ 25.7)
ลำดับที่ 3 “ประเทศไทยไร้คอร์รัปชันสิ้นเชิง” (ร้อยละ 9.7)
ลำดับที่ 4 “ยุติธรรมไม่มีชนชั้น ใครๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม” (ร้อยละ 8.1)
ลำดับที่ 5 “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดี” (ร้อยละ 5.9)
ลำดับที่ 6 “ประชาชนมีอำนาจเหนือนักการเมือง” (ร้อยละ 5.7)
ลำดับที่ 7 “การศึกษานำไปสู่การสร้างปัญญาที่แท้จริง” (ร้อยละ 3.8)


ซึ่งจากข้อค้นพบที่ได้ พบว่า คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันทั้งเพศชายและเพศหญิง มีความฝันเป็นลำดับที่ 1 คือ “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” รวมทั้งคนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันตามลักษณะเขตที่อยู่อาศัยก็มีฝันเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เมื่อพิจารณาแยกตามภูมิภาคที่อยู่อาศัย พบว่า คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ฝันอยากเห็น “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” เป็นลำดับที่ 1 ขณะที่คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคเหนือนั้น มีฝันที่จะอยากเห็น “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” เป็นลำดับที่ 1
เมื่อพิจารณาแยกตามช่วงอายุ พบว่า คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันเกือบทุกกลุ่มอายุ ฝันอยากเห็น “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” เป็นลำดับที่ 1 มีเพียงกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่ฝันอยากเห็น “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” เป็นลำดับที่ 1
คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันเกือบทุกระดับการศึกษาฝันอยากเห็น “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” เป็นลำดับที่ 1 มีเพียงกลุ่มที่มีการศึกษาในระดับ ปวส./อนุปริญญา และปริญญาตรี ฝันอยากเห็น “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” เป็นลำดับที่ 1
คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันเกือบทุกอาชีพฝันอยากเห็น “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” เป็นลำดับที่ 1 ขณะที่กลุ่มที่ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ฝันอยากเห็น “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” เป็นลำดับที่ 1 และกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ฝันอยากเห็น “ประเทศไทยไร้คอร์รัปชั่นสิ้นเชิง” เป็นลำดับที่ 1
และคนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝัน เกือบทุกระดับรายได้ก็ฝันอยากเห็น “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ เป็นลำดับที่ 1 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท และมีรายได้ 30,001-50,000 บาท ฝันอยากเห็น “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” เป็นลำดับที่ 1
ทั้งนี้ คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝัน ได้ให้ข้อเสนอสำหรับทางเดินสู่ประเทศไทยในฝัน เพื่อทำให้ฝันนั้นเป็นจริง และ “ตัวคุณ” จะทำอย่างไรในการมีส่วนทำให้เพื่อฝันนั้นเป็นจริง สามารถสรุปได้ ดังนี้
ฝันลำดับที่ 1 “คนไทยรักและสามัคคี บ้านเมืองสงบ น่าอยู่ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาอาชญากรรมและภัยสังคมต่างๆ” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. สร้างความปรองดอง มีความรักสามัคคีกัน ไม่แบ่งฝ่ายแก่คนประเทศ (ร้อยละ 32.8) 2. จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความสามัคคี และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ร้อยละ 16.5) และ 3. พัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประชาชน พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ร้อยละ 10.0) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. เป็นคนดี ทำหน้าที่ของตนอย่างสุจริต เคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือกัน (ร้อยละ 32) 2. อยู่อย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง สามัคคีกัน ไม่สร้างความแตกแยก (ร้อยละ 17) และ 3. อนุรักษ์และปฏิบัติตามกฎหมาย วัฒนธรรมประเพณี และไม่ทำตัวเป็นภัยต่อสังคม (ร้อยละ 16)
ฝันลำดับที่ 2 “ประเทศก้าวหน้าทุกด้าน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความสามารถในการแข่งขัน” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่ง และมั่นคงอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 23.8) 2. เร่งแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น (ร้อยละ 21.0) และ 3. ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ และดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม (ร้อยละ 18.1) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. ให้ความร่วมมือ สนับสนุน ร่วมมือปฏิบัติตามนโยบาย (ร้อยละ 48) 2. พัฒนาความรู้และทักษะการทำงานของตนให้มีคุณภาพ มีความขยัน อดทน (ร้อยละ 21) และ 3. ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ก่อหนี้ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต (ร้อยละ 11)
ฝันลำดับที่ 3 “ประเทศไทยไร้คอร์รัปชันสิ้นเชิง” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. เพิ่มโทษคดีคอร์รัปชัน ยกเลิกอายุความ (ร้อยละ 27.8) 2. ประชาชนตื่นตัว ติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อมูลการทุจริต (ร้อยละ 22.8) และ 3. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส มีความยุติธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี คำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง (ร้อยละ 19.4) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. มีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และอยู่ภายใต้กฎหมาย (ร้อยละ 44) 2. เป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ พร้อมแจ้งเบาะแสของการทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 27) และ 3. ทุกคน ทุกฝ่ายร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้ ไม่รับสินบน (ร้อยละ 26)
ฝันลำดับที่ 4 “ยุติธรรมไม่มีชนชั้น ใครๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. รณรงค์ ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทย ให้มีศีลธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัยและค่านิยมที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ และเยาวชนในการดำเนินชีวิตและการทำงาน (ร้อยละ 34.0) 2. บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีบทลงโทษที่รุนแรงเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำความผิดกฎหมาย ด้วยความยุติธรรมเป็นมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ (ร้อยละ 13.5) และ 3. จัดศูนย์บริการครบวงจร ช่วยคนจน เข้าถึงความยุติธรรม (ร้อยละ 12.7) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. เคารพกฎหมาย กฎระเบียบ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด (ร้อยละ 39.0) 2. พัฒนาตนให้เป็นพลเมืองดี มีวินัย ความรู้และคุณธรรม (ร้อยละ 36.8) และ 3. ให้ความร่วมมือกับรัฐ เป็นหูเป็นตาให้ชุมชน ไม่เพิกเฉยต่อเรื่องที่เป็นภัยสังคม (ร้อยละ 11.0)
ฝันลำดับที่ 5 “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดี” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. ส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน มีความมั่นคงทางรายได้ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร พร้อมทั้งมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร (ร้อยละ 41.0) 2. ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกร มีการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น (ร้อยละ 25.2) และ 3. มีการกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นธรรมกับเกษตรกรและสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร (ร้อยละ 16.1) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. สนับสนุนให้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและพร้อมให้ความร่วมมือ (ร้อยละ 51.1) 2. พัฒนาคุณภาพของการเพาะปลูก และผลผลิตให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง (ร้อยละ 17.2) และ 3. เพิ่มทักษะความรู้ทางการเกษตร และทำงานของตนให้ดีที่สุด (ร้อยละ 14.9)
ฝันลำดับที่ 6 “ประชาชนมีอำนาจเหนือนักการเมือง” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. การดำเนินนโยบายต่างๆ กระจายทั่วถึง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมทั้งรับเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน (ร้อยละ 75.5) 2. นักการเมืองทำการทุจริต ต้องถูกลงโทษอย่างหนัก (ร้อยละ 9.4) และ 3. จัดตั้งศูนย์บริการ หรือหน่วยงานช่วยเหลือประชาชน บริการทุกชนชั้น ให้ทั่วถึง (ร้อยละ 6.1) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. ทำหน้าที่ตรวจสอบนักสอบเมืองทุกระดับ (ร้อยละ 50.6) 2. ติดตาม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงาน (ร้อยละ 28.1) และ 3. ใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ (ร้อยละ 10.3)
ฝันลำดับที่ 7 “การศึกษานำไปสู่การสร้างปัญญาที่แท้จริง” มีข้อเสนอทางเดินสู่ฝัน ดังนี้ 1. ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง (ร้อยละ 40.9) 2. พัฒนาการศึกษาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (ร้อยละ 13.0) และ 3. รัฐและเอกชนร่วมกันออกนโยบายสร้างคนที่มีคุณภาพ (ร้อยละ 12.0) โดยจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความฝัน ดังนี้ 1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุตรหลานเห็นความสำคัญของการศึกษา และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา (ร้อยละ 43.2) 2. ขยัน ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ (ร้อยละ 34.3) และ 3. ถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ ควบคู่กับจริยธรรมให้กับนักเรียน (ร้อยละ 17.0)
นอกจากนี้ความฝันอื่นๆ ที่คนไทยที่มีส่วนร่วมเสนอความฝันอยากเห็นเป็นลำดับรองลงมา ได้แก่ คนส่วนน้อยมีที่ยืนในสังคม ดิน น้ำ ป่า ไม้ เป็นของทุกคน ไม่มีคนรวยสุดขั้ว คนจนสุดขีด อนาคตเมืองไทย คนไทยกำหนด สิ่งแวดล้อมไทยยั่งยืน รักชาติ อนุรักษ์ความเป็นไทย วัฒนธรรม ประเพณี สื่อมวลชนเป็นกลาง อยู่เคียงข้างประชาชน หมอดี ครูดี พอสำหรับทุกคน และคนไทยพร้อมรับมือภัยพิบัติทุกประเภท ตามลำดับ
ซึ่งท้ายสุดความฝันที่อยากเห็นในอนาคตนั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนและดำเนินการ เพื่อให้ความฝันของคนไทยให้เป็นจริงได้อย่างที่ต้องการ