อบรมทุเรียนไทยคึกคัก! ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เกษตรกรชุมพรรับมืออากาศแปรปรวน มุ่งผลิตทุเรียนคุณภาพ ปลอดสารตกค้าง
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ที่จังหวัดชุมพร

ชุมพร – วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สังกัดสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงวิชาการเรื่อง “วิกฤตทุเรียนไทยในสภาพอากาศแปรปรวน ณ ฉัตรกมลฟาร์ม อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมอบรมกว่า 112 ราย
![]() |
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง อว. |
![]() |
ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล ประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดชุมพร |
กิจกรรมในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ความรู้เชิงลึกแก่เกษตรกรในการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการออกดอกและคุณภาพของผลผลิตทุเรียน พร้อมทั้งแนะแนวทางการลดการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร เช่น สี BY2 และโลหะหนักอย่าง แคดเมียม (Cadmium) ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
ในช่วงเช้า รศ. ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้แนะนำบทบาทและภารกิจของศูนย์ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวอย่างครบวงจร และ กล่าวว่า
"การจัดอบรมในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนต้องเผชิญกับความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร การให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแนวทางการปรับตัวเชิงวิชาการ จะช่วยยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิต ลดความเสียหาย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
ด้าน ดร. รุจิรา ดีวัฒนวงศ์ และ ดร. ประสิทธิ์ ดีวัฒนวงศ์ ให้ความรู้เรื่องการปนเปื้อนของแคดเมียมในทุเรียน ซึ่งแม้จะเป็นโลหะธรรมชาติที่ไม่สลายตัว แต่สามารถเข้าสู่พืชผ่านรากและสะสมในผลผลิตได้ จึงต้องมีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด
ในช่วงบ่าย ผศ. ดร. สุนทร พิพิธแสงจันทร์ อธิบายถึงพฤติกรรมของทุเรียนในภาวะอากาศแปรปรวน โดยเน้นให้เกษตรกรเข้าใจธรรมชาติของพืชและปรับตัวให้เหมาะสม “หากผู้ปลูกเข้าใจต้นทุเรียน ก็สามารถวางแผนการดูแลและเก็บเกี่ยวได้แม่นยำขึ้น แม้ในสภาวะที่อากาศไม่แน่นอน”
ขณะเดียวกัน ดร. ประสิทธิ์ ดีวัฒนวงศ์ ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ว่า “ปีนี้อากาศแปรปรวนมาก จนทำให้ทุเรียนในต้นเดียวกันมีดอกออกหลายรุ่น บางชุดบานไม่พร้อมกัน ทำให้การประเมินความสุกแบบดั้งเดิมด้วยสายตาอย่าง ‘อ่อน-แก่’ ทำได้ยาก ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตที่อาจยังไม่ถึงระดับ ‘พรีเมียม’ อย่างแท้จริง”
ดร. ประสิทธิ์ ยังเน้นว่า “การผลิตทุเรียนคุณภาพต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวัดค่าคุณภาพผล และความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ ไม่ใช่แค่มองภายนอกหรือขนาดทรงผลเท่านั้น”
ภายในงาน ยังมีการนำเสนอกรณีศึกษาจาก สวนทุเรียนปลอดสารพิษ Smile Heart Orchard ซึ่งใช้วิธีธรรมชาติและจุลินทรีย์ในการบำรุงต้นทุเรียน ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชใด ๆ โดยเจ้าของสวนเปิดเผยถึงความท้าทายในการเก็บเกี่ยวในปีนี้จากฝนตกถี่และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้การคาดการณ์วันสุกคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ยังคงยึดมั่นในการส่งมอบผลผลิตปลอดภัย มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และรักษาความอร่อยจากธรรมชาติไว้ได้อย่างครบถ้วน
กิจกรรมอบรมทุเรียนครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมการเกษตรไทยแบบยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเข้าใจธรรมชาติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ในยุคที่สิ่งแวดล้อมและอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พร้อมสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศถึงคุณภาพและความปลอดภัยของ “ทุเรียนไทย” อย่างแท้จริง