สสว. ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC หวังสร้างแต้มต่อเอสเอ็มอีไทย ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สสว. จัดประชุมชี้แจงแนวทางและแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ สสว.ได้จัดให้มี โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยมีการจัดประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ในแบบ Mini Roadshow ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี โดยได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหาร สสว. ร่วมด้วย ผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมประชุมหารือเพื่อหา
แนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
รักษาการแทน ผอ. สสว. เผยอีกว่า ในการประชุม ได้มีการนำเสนอภาพรวมของโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ภายในปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นว่า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ, คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ/กลุ่มเป้าหมาย, แผนการดำเนินกิจกรรมโครงการทั้งหมด, วิธีการรับสมัคร และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ, การแนะนำหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมและบทบาทของแต่ละหน่วยงาน
“สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ คือ ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเปิดประตูสู่ธุรกิจและนวัตกรรม, พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงลึกเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม, มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศ, มีโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ, มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ” นางสาวปณิตาระบุ
ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ เป็นบุคคลทั่วไปที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ
(มีการดำเนินธุรกิจ), ผู้ประกอบการที่ยังไม่จดทะเบียน, ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้วไม่เกิน 3 ปี มี
สถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี ที่มีการดำเนินกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่อยอดอัตลักษณ์ เชิงพื้นที่สร้าง Value Creation, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี/แปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
โดยกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2567 จะประกอบไปด้วย กิจกรรมที่ 1 : ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม (เดือนกันยายน / 150 ราย) กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง (13 กันยายน ถึง 28 ตุลาคม 2567 /รวม 45 วัน) กิจกรรมที่ 3.1 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ (20 ราย) กิจกรรมที่ 3.2 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศ (20 ราย) และกิจกรรมที่ 4 : เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสถาบันการเงินอื่นๆ (30 ราย/ ธันวาคม 2567)
สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน พร้อมจับมือสานพลังในโครงการนี้ อาทิ
1.สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด 2.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 5.สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด 6.สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 7.สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด 8.สำนักงานคลังจังหวัด 9. สำนักงานเกษตรจังหวัด 10.หอการค้า 11.สมาพันธ์ SME ไทย 12.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 13.คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ14.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สนใจเข้าร่วมโครงการ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณกฤษฏิ์ แฝงทรัพย์ โทรศัพท์ 064 341 2468
คุณสถาพร สุริยันต์ โทรศัพท์ 098 669 2992
E-mail : eec.smethai@gmail.com