ADS


Breaking News

สสว. เร่งขยายศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจ หารือเข้ม หนุนส่งเสริม SME ที่เข้าร่วมโครงการ BDS ปีงบประมาณ 67 ให้ถึงเป้าเตรียมมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ประจำปี 2567

สสว. เดินหน้ายกระดับศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจ หารือเข้มข้น มุ่งพัฒนาส่งเสริม SME ที่เข้าร่วมโครงการ BDS ปีงบประมาณ 2567 ให้ถึงเป้าเตรียมมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ประจำปี 2567

สสว.จัดกิจกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทางธุรกิจ ภายใต้ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2567 เดินหน้าผนึกพลังผู้ให้บริการทางธุรกิจ หรือ BDSP ทุกภาคส่วน หารือเข้มข้น หวังช่วยยกระดับ SME ที่เข้าร่วมโครงการ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เตรียมผลักดันให้โดดเด่นทั้งในไทยและต่างประเทศ เผยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ BDS จำนวน 32,922 ราย มีผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 237 ราย 610 บริการ มี SME ยื่นข้อเสนอการพัฒนาผ่านโครงการ BDS ปี 2565-2567 แล้ว จำนวน 5,967 ราย
ยอดค่าใช้บริการ กว่า 253 ล้านบาท โดยได้รับเงินช่วยเหลืออุดหนุนจาก สสว. กว่า 151 ล้านบาท กำหนดแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้ตามเป้าหมาย และเตรียมมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่น ประจำปี 2567

ภายในงานเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องพระศิวะ ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ ZOOM Meeting ได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมด้วย ผู้บริหารผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมประชุมหารืออย่างเข้มข้น

.

ดร.ปณิตา ชินวัตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานในภาพรวมของมาตรการ BDS  "SME ปัง  ตังได้คืน" (ณ 2 ก.ย. 67) มีผู้ประกอบการสมัครสมาชิกบนระบบ BDS จำนวน 32,922 ราย ผู้ประกอบการยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 9,903 ราย ผู้ประกอบการได้รับการยืนยันตัวตน/จัดกลุ่มแล้ว 5,967 ราย ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอการพัฒนา 2,746 ราย/ 2,927 ข้อเสนอ แบ่งตามพื้นที่เป็น กรุงเทพฯ 1,923 ราย, ปริมณฑล 1,148 ราย, ภาคกลาง 557 ราย, ภาคตะวันออก 384 ราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 864 ราย, ภาคใต้ 468 ราย และภาคเหนือ 623 ราย”


ดร.ปณิตา เผยด้วยว่ามีผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอการพัฒนา ภายใต้โครงการ BDS ปี 2565-2567 (5 โครงการ) จำนวน 2,746 ราย 2,927 ข้อเสนอพิจารณา มียอดค่าใช้บริการ รวมกว่า 253 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่ได้รับการช่วยเหลืออุดหนุนจาก สสว. กว่า 151 ล้านบาท มีผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมให้ความสนับสนุน จำนวน 237 หน่วยงาน โดยยื่นบริการบนระบบ BDS จำนวน 130 หน่วยงาน ยื่นบริการบนระบบ จำนวน 610 บริการ โดย 3 หมวดบริการที่ได้รับความนิยมสูง คือ หมวด 2 บริการด้าน การพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ หมวด 4 การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด, และหมวด 3 บริการด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานฯ


“สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2567 และแผนในปี 2568  สสว.มีงบประมาณในการสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ณ ปัจจุบัน คงเหลือประมาณ 100 ล้านบาท  โดยให้ระยะเวลายื่นข้อเสนอการพัฒนาบนระบบ BDS ในปี 2567 : 1 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 และผู้ประกอบการจะมีระยะเวลาในการพัฒนา ไม่เกินวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ส่วนการยื่นข้อเสนอการพัฒนาบนระบบ BDS ในปี 2568 คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป” ดร.ปณิตา กล่าว


ทั้งนี้ งบประมาณการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จะได้รับสัดส่วนความช่วยเหลืออุดหนุน 50-90% ตามประเภทธุรกิจและเกณฑ์กำหนด วงเงินความช่วยเหลืออุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท 


สำหรับการขึ้นทะเบียนบริการของหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) บนระบบ BDS จะมุ่งเน้นการยกระดับการให้บริการของผู้ให้บริการทางธุรกิจของหน่วยงานเดิม หรือการผลักดันให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เสนอบริการบนระบบ โดยการประชุมชี้แจงกับผู้ให้บริการทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมสรรหาหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจใหม่ เพื่อให้มีบริการที่ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น


นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้มีการหารือและวางแนวทางการจัดทำ Rating เพื่อมอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่นประจำปี 2567 โดยมีแนวทางการมอบรางวัล จำนวน 4 รางวัล ดังนี้ 1.ด้านการประสานงาน (Coordinating) : พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ดำเนินการประสานงานระหว่าง ผู้ประกอบการ SME และ สสว. เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว ในการให้บริการผู้ประกอบการ SME 2.ด้านการสร้างเครือข่าย (Networking) : พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่มีการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสามารถต่อยอดความสามารถในการให้บริการที่หลากหลายให้กับผู้ประกอบการ SME 3.ด้านการสร้างบริการที่ผู้ประกอบการสนใจ (Service approach) : พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ได้ดำเนินงานเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ SME บนแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS และ 4.ด้านการดำเนินงาน (Operating) : พิจารณาจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่สามารถเชิญชวนผู้ประกอบการ SME เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ได้จำนวนมาก เพื่อได้รับบริการจากหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจต่อไป