ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผนึก เมดโทรนิค เปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเมดโทรนิค เปิดศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง
วันนี้ (1 เมษายน 2567) ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดตัว “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง” บ่มเพาะเป็นสถานที่ฝึกอบรมและให้ความรู้เฉพาะทางแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรการแพทย์จากประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1201 โซน A ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งสอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ค่อนข้างต่ำ เพียง 600,000 กว่าคนต่อปีเท่านั้น ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญคือ ภาวะโรคกระดูกและข้อ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี นอกจากนี้สถานการณ์โรคที่เกี่ยวข้องกับ “กระดูกสันหลัง” และ “ระบบประสาท” ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่ม “มนุษย์ออฟฟิศ” ที่ต้องเร่งรีบในการทำงาน หรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ พบสูงสุดในกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป, พนักงานเอกชน รองลงมาคือ กลุ่มทำงานภาคเกษตรกรรม โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบมากคือ 45-54 ปี รองลงมาช่วงอายุ 55-64 ปี ดังนั้นการรักษาโรคทางด้านกระดูกสันหลัง จึงเป็นสาขาทางการแพทย์ที่มีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพแก่ผู้ป่วยในประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน จึงนำมาซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการรักษาโรคทางด้านกระดูกสันหลังและเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า โรคทางด้านกระดูกสันหลัง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลต่อภาระทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา ดังนั้นในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการเรียนการสอน ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายสนับสนุนการเปิดศูนย์การอบรมทางวิชาการต่างๆ เพื่อให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วได้กลับเข้ามารับความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องผ่านหลากหลายช่องทางการเรียนรู้ที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือในการพัฒนา “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง” เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาโรคทางด้านกระดูกสันหลังเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศที่ได้มาตรฐานในระดับสากล
ด้าน รศ.นพ.วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในยุคที่สังคมกำลังเผชิญกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เราทุ่มเทในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านออร์โธปิดิกส์ที่เน้นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับกับการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอนาคต ทางภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาโรคทางด้านกระดูกสันหลัง เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนานิสิตแพทย์ให้มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติที่ตรงกับมาตรฐานทางวิชาชีพ โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง รวมถึงการให้บริการที่มีคุณภาพและเน้นความมีส่วนร่วมของผู้ป่วย เราพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและเป็นผู้นำทางด้านการรักษาโรคด้านกระดูกสันหลังเพื่อการรักษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล ด้วยความพร้อมของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งในด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการรักษาที่ทันสมัย การเปิดตัว “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง” นั้น จึงเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของภาควิชาในการนำองค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาแพทย์ในประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ “เพื่อการเป็นผู้นำด้านออร์โธปิดิกส์ชั้นนำของประเทศที่ให้ความรู้ด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่นิสิตแพทย์ บัณฑิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งให้บริการ ด้วยคุณธรรมและจริยธรรมตามมาตรฐานวิชาชีพและสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคม”
ปัจจุบัน ทางภาควิชาออโธปิดิกส์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กำลังค้นคว้าวิจัย การนำเทคโนโลยีระบบหุ่นยนต์ช่วยนำทาง มาช่วยในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก เพื่อศึกษาถึงประโยชน์และความปลอดภัยในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรักษาผู้ป่วย และหากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยยกระดับการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
การร่วมมือครั้งนี้เป็นความภูมิใจที่จะนำเสนอการเรียนรู้ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถได้รับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการทำหัตถการและการใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มอบประสบการณ์ในการเรียนรู้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการอบรมที่มีคุณภาพของคณาจารย์จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับบริษัทเมดโทรนิค ที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ ในการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อยอดไปยังการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับผู้ป่วยให้มากยิ่งขึ้นด้วย
ทางด้าน Mr. Paul Verhulst Vice President, Mainland Southeast Asia, Medtronic PLC. กล่าวว่า ในฐานะที่เมดโทรนิคเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพและมีศักยภาพในการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เรามีความมุ่งมั่นในการแก้ไขความท้าทายทางด้านสุขภาพ ในการบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคภัยต่างๆ ส่งเสริมให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544
“กว่า 23 ปีที่เมดโทรนิคได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้ให้บริการด้านสุขภาพในทุกภาคส่วน ผ่านหลากหลายโครงการความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทางการแพทย์และสาธารณสุข ในด้านการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การอบรมบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน เพิ่มบุคลากรที่มีความรู้และทักษะไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยให้กับประชาชน ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านงานวิจัย ยกระดับศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งล้วนถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้อยู่ในระดับสากล และในปี พ.ศ. 2567 นี้ เมดโทรนิค ประเทศไทย จึงมีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดโรคทางด้านกระดูกสันหลัง”ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ” Mr. Paul Verhulst กล่าว
“ทั้งนี้ทางบริษัทฯ มีความยินดี และพร้อมจะสนับสนุนโครงการความร่วมมือ ในการพัฒนาองค์ความรู้ลักษณะนี้กับทุกสถาบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย ทั้งทางด้านการศึกษา การแพทย์ และสังคมไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพของประชาชนไทยได้มากขึ้นในอนาคต” Mr. Paul Verhulst กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ คุณสุชาดา ธนาวิบูลเศรฐ, Senior Country Director บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเมดโทรนิค ให้ความสำคัญกับคนไข้เป็นอันดับแรก โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ยกระดับศักยภาพในการผ่าตัดของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูงสุด
นอกจากการพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ที่เราให้ความสำคัญแล้ว เมดโทรนิคยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากขึ้นและเพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น เรามีการนำระบบหุ่นยนต์ช่วยนำทาง(Robotic Guidance System) และเครื่องช่วยผ่าตัดนำวิถี (O-arm Navigation) ซึ่งเป็นเครื่องสแกนกระดูกสันหลังในขณะผ่าตัด และสร้างภาพกระดูกสันหลังเป็นภาพทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ ที่จะช่วยระบุบพิกัดบนภาพสแกนอวัยวะของผู้ป่วยเพื่อประกอบการตัดสินใจของแพทย์ที่จะนำไปสู่การรักษาที่ปลอดภัยมากขึ้น การแสดงผลภาพที่ชัดเจน จะทำให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งของเครื่องมือที่ใส่ ระยะใกล้ไกลเส้นประสาทหรือไขกระดูกสันหลังได้อย่างแม่นยำ สามารถเอ็กซ์เรย์ในห้องผ่าตัดได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายคนไข้ ช่วยยกระดับการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังในครั้งนี้ได้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางด้านผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีความซับซ้อน ให้มีผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีแก่ผู้ป่วย ผ่านการถ่ายทอดความรู้ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ให้มีทักษะการผ่าตัดที่ก้าวหน้าเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้พร้อมรับมือกับโรคกระดูกสันหลังที่มีความท้าทายยิ่งขึ้น เพิ่มจำนวนบุคลากรมีความเชี่ยวชาญในภูมิภาค ลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในประเทศ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที การทำงานร่วมกันเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อการรักษาโรคกระดูกสันหลังทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้