“โฆษก ก.เกษตรฯ” ประกาศ “ธรรมนัส” สอบเข้ม กลุ่มกินหัวคิว “โคบาลชายแดนใต้” พบทุจริตเอาผิดไม่มีเว้น ด้าน “รมช.ไชยา” รับไม้ต่อเร่งสอบด่วน ขยายผลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่เดือดร้อน
“โฆษก ก.เกษตรฯ” เผย “ธรรมนัส” สั่งลงดาบเชือด กลุ่มกินหัวคิว “โคบาลชายแดนใต้” สอบพบทุจริตเอาผิดไม่มีละเว้น ด้าน “รมช.ไชยา” รับไม้ต่อเร่งสอบด่วน ขยายผลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่เดือดร้อน
นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณี “โครงการโคบาลชายแดนใต้” เรื่องการจัดหาแม่โคของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปัตตานี ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ(Specification) ของโครงการ ว่า การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท จึงย้ำว่า ขณะนี้เป็นการดำเนินงานระยะนำร่อง ปัญหานี้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และมอบหมายให้ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เร่งหาข้อมูลในการช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาในขณะนี้ คือ กลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีบางกลุ่มได้แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะไม่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ แต่จังหวัดอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่เจอกับปัญหานี้ จึงขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นแค่จุดเดียว คือ จ. ปัตตานี ข้อกำหนดในเอกสารเขียนชัดเจนว่า ให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร เมื่อผู้ขายแจ้งกำหนดส่งมอบโค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบโค ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ เมื่อเอกสารและคุณภาพตรงตามเงื่อนไข และเกษตรกรมีความพึงพอใจ ก็จะดำเนินการตรวจรับและจัดส่งเอกสารเพื่อทำการเบิกจ่ายเงินต่อไป หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการดำเนินให้ถูกต้องต่อไป ซึ่ง จ. ปัตตานี มีการส่งมอบโคครบทุกกลุ่มแล้ว จำนวน 16 กลุ่ม จากที่ได้รับรายงาน มีการแก้ไข 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่ง ขอเปลี่ยนแม่โค จำนวน 20 ตัว และอีกกลุ่มหนึ่ง ขอยกเลิกสัญญา ส่วนในกลุ่มอื่นๆ กำลังทำการขยายผลและตรวจสอบอย่างละเอียด
ส่วนกรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นสั่งการให้ดูแลด้านสุขภาพ ให้ยาบำรุงและสนับสนุนพืชอาหารสัตว์แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อตามหลักวิชาการ ให้วิตามิน และอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมืองเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว
นอกจากนี้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ชี้แจงรายงานข้อเท็จจริงพร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อทำงานควบคู่กับทางคณะกรรมการตรวจสอบของ ศอ.บต. โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ดังนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลในยุคของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะปราบปรามปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร หากตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือข้าราชการ จะดำเนินการเอาผิดอย่างถึงที่สุด
ทั้งนี้ การส่งมอบโคแก่เกษตรกรในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรใน จ.ปัตตานี 800 ตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน จ.นราธิวาส จำนวน 800 ตัว เมื่อเดือนธันวาคม และ จ.สตูล 400 ตัว เมื่อเดือนเมษายน 2566 สำหรับ จ.สงขลา และ ยะลา ยังไม่มีการจัดส่งวัว ณ เวลานี้มีการเบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.43 และมีวัวที่รับมอบเป็นผลผลิตทางโครงการให้ลูกแก่เกษตรกรจำนวนหลายตัวแล้ว