ADS


Breaking News

วช. ระดมสมอง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

วช. ระดมสมอง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
     วันที่ 14 ธันวาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชการ และผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มเรื่อง Haze Free Thailand และ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง และได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงร่วมกันจัดการประชุมเสวนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพและการรับมือกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และในปี 2566 วช. จึงริเริ่มพัฒนาเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ มี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยศูนย์มีบทบาทหน้าที่ในการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์และวิทยาการสาขาต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับ นานาชาติ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของสถาบันการศึกษา สถาบันหนึ่ง เพื่อให้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับความร่วมมือจาก หลากหลายสถาบันอย่างแท้จริง
     การจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” มีหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้ ข้อข้องใจที่ 1 : แหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คืออะไร อยู่ที่ไหน ? ข้อข้องใจที่ 2 : จะจัดการกับปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไรดี ข้อข้องใจที่ 3 : จะจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคการขนส่งในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างไรดี และ ข้อข้องใจที่ 4 : เชื่อได้หรือไม่กับการตรวจวัดคุณภาพอากาศ การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การแปลผล และการนำเสนอข้อมูล
     ข้อมูลที่ได้ร่วมกันสัมมนาในครั้งนี้ วช. จะนำไปเสนอเป็นแนวทางการเตรียมรับมือด้านสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิจัยและ นวัตกรรม เพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชนในการเฝ้าระวังการเผชิญเหตุเมื่อปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมในการ จัดการฝุ่น PM 2.5 อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

#วช. #NRCT
#สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ