ADS


Breaking News

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง

ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง
     สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือ ทำให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในวันที่ 3 – 6 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมี พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566 ดังนี้
     1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ 
     จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอจอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา) 
     จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ) 
     จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอโกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) 
     จังหวัดลำพูน (อำเภอลี้ และทุ่งหัวช้าง) 
     จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น และลอง) 
     จังหวัดลำปาง (อำเภอเถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา)
     2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้
   2.1 แม่น้ำวัง ได้แก่ อำเภอสามเงา และบ้านตาก จังหวัดตาก
   2.2 แม่น้ำยม ได้แก่ อำเภอสวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
   2.3 แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
      ในการนี้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
     1. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
     2. วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำสายหลักให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำ ที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา
     3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
     
ประกาศ ณ วันที่  30 กันยายน 2566