แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล MOU ทัชเทคโนโลยี สร้างต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัล ยกระดับนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ บริษัท ทัชเทคโนโลยี จำกัด เพื่อพัฒนาต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัลและสร้างนวัตกรรม การบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่
กรุงเทพฯ - 18 สิงหาคม 2566: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท ทัชเทคโนโลยี จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) “เพื่อพัฒนาต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Station) และสร้างนวัตกรรม การบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง การบริการทางสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ” ณ ห้องประชุมตึกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันหรือ Disruptive Technology เพื่อส่งเสริมการ พยากรณ์ ป้องกัน และการรักษาโรคแบบรายบุคคล Personalize Medicine และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้วยการออกแบบและพัฒนาต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Station) เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการ การแพทย์ทางไกลด้วยตนเองทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่เชื่อมั่น และได้รับการยอมรับจากแพทย์และผู้ป่วยตามแนวคิด “Healthcare Everywhere” โดยเน้นประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
“คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม Digital Healthcare Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน ได้อย่างเท่าเทียม และเพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างยั่งยืนและบรรลุวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่องคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อนำ Disruptive Technology เช่น Internet of Medicare Things (IoMT) เข้าสู่ Healthcare Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องแม่นยำในการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชน ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์เชิงลึกด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อส่งเสริมการ พยากรณ์ ป้องกัน และการรักษาโรคแบบรายบุคคล Personalize Medicine และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้วยการออกแบบและพัฒนาต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Station) เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการ การแพทย์ทางไกล ได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับมาตรฐานระบบการให้บริการสาธารณสุข ส่งผลให้ประชาชนทุกระดับ มีสุขภาวะที่ดี โดยเริ่มต้นมุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วย NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจาก วิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และพบว่ามีประชากรเสีย ชีวิต จากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็น ¾ ของการเสียชีวิต ของประชากรไทยทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เรื่อยๆ ในอนาคต”
นางสาวชัชฎา อภิชาสุทธากุล Touch Group CEO & Founder บริษัท ทัชเทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า “การร่วมมือของบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในครั้งนี้ เราจะร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในการป้องกัน เฝ้าระวังกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และลดความเสี่ยง ในการเสียชีวิตของประชาชน โดยได้กำหนดแผนความสำคัญระดับต้น ๆ เป็นการพัฒนานวัตกรรมการตรวจเลือดโดยไม่ต้องเจาะเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีจำนวนกว่า 14 ล้านคนทั่วประเทศ และ จำเป็นต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลเป็นประจำทุกวัน ทำให้ประชาชนได้ตรวจระดับน้ำตาลของตนเองง่าย ๆ ไม่ต้องเจ็บปวดจากการเจาะเลือดปลายนิ้ว ตรวจได้บ่อยเท่าที่ต้องการ รู้ทันโรคสามารถดูแลตัวเองได้ ลดภาระสถานพยาบาลของรัฐฯ และ พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยในการแนะนำผลของการตรวจวัดต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ๆ และแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคกลุ่ม NCDs และ ลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขทางไกล ด้วยการพัฒนาต้นแบบสถานีสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Station) เพื่อให้ประชาชนไทยทั้งในเมืองและส่วนภูมิภาคของประเทศ เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่มี คุณภาพอย่างเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ อาทิเช่น บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) บริการส่งยาถึงบ้าน การดูแลผู้ป่วยตามบ้านหรือชุมชน (Home Care) เป็นต้น”
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ที่จะช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน อันก่อให้เกิดผลดีต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง การบริการทางสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งผลดีต่อการมี สุขภาวะ ที่ดีของคนไทยต่อไป
ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/TouchTechnologies