ADS


Breaking News

วช. เสริม ม.ศิลปากร วิจัยจมูกรับกลิ่นควันไฟ ด้วย "ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ" เตือนภัยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าด้วย IoT

วช. หนุน ม.ศิลปากร คิดค้นจมูกรับกลิ่นควันไฟ ด้วย "ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ" ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าด้วย IoT
     วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” โดยมี รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการฯ ณ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง และสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน
  รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากปัญหาไฟป่าในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และเซ็นเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลมหัต (Big data) ร่วมกับเทคนิคเหมืองข้อมูลในการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองของการเกิดไฟป่า รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และสามารถเตือนภัยการเกิดไฟป่าได้จริง ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงความมั่นคง ในการดำเนินงานคณะผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่วิจัย เพื่อทำการติดตั้งต้นแบบการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าบริเวณแนวกันไฟ ซึ่งเปรียบเสมือน "จมูก" ในการรับกลิ่นควันไฟก่อนจะเกิดไฟไหม้ป่าในวงกว้าง โดยทำการติดตั้งโหนดเซ็นเซอร์พร้อมระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 9 ชุด ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (IoT) จากแพลตฟอร์ม CANARIN และ เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G เพื่อรับ-ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังศูนย์เฝ้าระวังไฟป่าซึ่งเป็นระบบ Cloud ที่สามารถให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และแสดงผลในแผนที่บนแพลตฟอร์ม CANARIN อีกทั้งพัฒนาแบบจำลองที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่ทำการวิจัย ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังไฟป่า และมีการพัฒนาในส่วนการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อที่จะได้ทำการดับไฟได้อย่างทันท่วงทีโดยใช้แอปพลิเคชันไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และทางอินเทอร์เน็ต
     นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการและสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังไฟป่ากับโครงการวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการ STIC-ASIA: SEA-HAZEMON (Low-cost Real-time Monitoring of Haze Air Quality Disasters in Rural Communities in Thailand and Southeast Asia) และโครงการ SEA-HAZEMON@TEIN โดยติดตามคุณภาพอากาศในประเทศไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย ปัจจุบันมีการติดตั้งโหนดเซ็นเซอร์ไปแล้วประมาณ 100 แห่ง ซึ่งการทำงานของโหนดเซ็นเซอร์ทั้งหมดของทุกโครงการจะสามารถบูรณาการข้อมูลกันได้ผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในแพลตฟอร์ม CANARIN ซึ่งการบูรณาการครั้งนี้จะทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงการเกิดไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน 
     จากความสำเร็จของโครงการฯ คณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้และบำรุงรักษาระบบแก่บุคลากรของสถานีควบคุมไฟป่า ตลอดจนชุมชนโดยรอบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังไฟป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เกี่ยวข้อง อบรมการใช้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ และจัดทำสื่อการสอนดิจิทัล (e-Learning) ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินงานของคณะนักวิจัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน, สถานีควบคุมไฟป่าบ้านโฮ่ง-ลำพูน, สถานีควบคุมไฟป่าผาเมือง-ลำพูน, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ซึ่งความสำเร็จงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่ป่าอื่น ๆ ได้อีกด้วย 
     การลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ คุณบัญชา มุแฮ จากชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ คุณภัทร์ไพบูลย์ เรือนสอน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอราบิก้าจังหวัดลำพูน และคุณวิสาทภรณ์ วาจาหวาน หัวหน้าชุดดับไฟป่า สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง ได้กล่าวถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการนำงานวิจัยระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อส่วนรวม สามารถระบุพิกัดการเกิดไฟป่าได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้การควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น แล้วหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก และสามารถขยายผลในพื้นที่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันนี้ต่อไป