วช. สถาบันคลังสมองของชาติ โชว์ผลงานวิจัยและเปิดตัวหนังสือ เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” : ความเหลื่อมล้ำ - ภาษีความมั่งคั่ง - รัฐสวัสดิการ
วช. ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ ล้อมวงเสวนาผลงานวิจัยและเปิดตัวหนังสือ เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” : ความเหลื่อมล้ำ - ภาษีความมั่งคั่ง - รัฐสวัสดิการ
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ จัดการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยและเปิดตัวหนังสือ เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” : ความเหลื่อมล้ำ – ภาษีความมั่งคั่ง – รัฐสวัสดิการ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้จากผลงานวิจัย อันจะนำไปสู่การวิจัยและต่อยอดความรู้ในอนาคต โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา และนายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้แทนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนา จำนวน 113 คน ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โครงการวิจัย เรื่อง“การประยุกต์ใช้ภาษีความมั่งคั่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานด้วยความเป็นธรรมและยั่งยืนในประเทศไทย” ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อมูลที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงสังคม จึงนำไปสู่การจัดทำเป็นหนังสือ เรื่อง เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้”: ความเหลื่อมล้ำ - ภาษีความมั่งคั่ง – รัฐสวัสดิการ เพี่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง โดยเนื้อหาของหนังสือมีประเด็นการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ประสบการณ์การเก็บภาษี ความมั่งคั่งในต่างประเทศ ข้อดี ปัญหา อุปสรรคในการจัดเก็บภาษี ความจำเป็น รวมถึง ข้อเรียกร้องในการจัดเก็บภาษี เพื่อสร้างระบบสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย การสัมมนานี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสังคม และนำไปสู่การผลักดันและขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
การเสวนามีการนำเสนอประเด็นสำคัญของหนังสือ เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” : ความเหลื่อมล้ำ – ภาษีความมั่งคั่ง – รัฐสวัสดิการ ในเรื่อง 1) ฝันให้ไกล คือ การทำให้เห็นภาพความหวัง/ความฝันของคนไทยที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปัจจุบัน ให้ฝันถึงรัฐสวัสดิการ และการยกระดับระบบสวัสดิการไปสู่การมีบำนาญถ้วนหน้า ประกันสังคมถ้วนหน้า การศึกษาฟรี เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า ฯลฯ 2) ไปให้ถึง คือ การทบทวนประสบการณ์การเก็บภาษีความมั่งคั่งของประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นบทเรียนและหาทางเลือกสำหรับประเทศไทย การที่รัฐเลือกเก็บภาษีคนรวย ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความเป็นธรรม เพราะการสั่งสมความมั่งคั่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนกลุ่มอื่นๆในสังคมไม่มากก็น้อย 3) ข้ามอุปสรรค คือ การหาแนวทางในการผลักดันในสามารถจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งและการจัดสวัสดิการที่คนในสังคมสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมรับผิดชอบ 4) ใกล้กันมากขึ้น คือ การแสดงให้เห็นแนวทางการก้าวข้ามอุปสรรคของการเก็บภาษีความมั่งคั่งที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ด้วยการเสนอแนวทางเก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” เพื่อลดช่องโหว่ของนโยบายและปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดการกระจุกตัวของทรัพย์สิน และสร้างความเท่าเทียมในสังคม ในรูปแบบของเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “จะทำให้เกิดรัฐสวัสดิการในสังคมไทยได้อย่างไร? - ความจำเป็นของภาษีความมั่งคั่ง” กล่าวถึง ปัญหารายได้และความเปราะบาง อนาคตศาสตร์ ว่าด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในไทย นโยบายการเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่ง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การเพิ่มสวัสดิการที่เหมาะสมจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้ 4 ปรากฏการณ์สะท้อนความเหลื่อมล้ำคือ 1. การขยายตัวของกลุ่มแรงงานเสี่ยง 2. ความยากลำบากของชนชั้นกลาง 3. การสะสมทุนอย่างล้นเกินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และ 4.การจัดลำดับชั้นของสวัสดิการผ่านมูลค่าแลกเปลี่ยน การแก้ไขปัญหาโดยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจึงยั่งยืนกว่าระบบเน้นค่าจ้าง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ โดยกล่าวถึง “ภาษี” ในฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่ใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการจัดสวัสดิการ ซึ่งการเก็บภาษีทางตรง การลดความหลากหลายของอัตราภาษี และลดเงื่อนไขการยกเว้นภาษี จะช่วยให้สามารถเก็บภาษีความมั่งคั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การยินยอมพร้อมใจกันจ่ายภาษีของผู้คนในสังคม จะช่วยเพิ่มทรัพยากรของภาครัฐในการนำไปทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คนในประเทศต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินการเสวนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ การสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยและเปิดตัวหนังสือ เราจะใกล้กันมากขึ้น “ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” : ความเหลื่อมล้ำ – ภาษีความมั่งคั่ง – รัฐสวัสดิการ วช. พร้อมที่จะสนับสนุนผลงานวิจัยไปสู่การผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้และความตื่นตัวของสาธารณชนในเรื่องภาษีความมั่งคั่ง การพัฒนาระบบสวัสดิการ และการลดความ เหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น