PLUS “CSR 4+1” ปีที่ 2 ผนึกกำลังกว่า 50 ธุรกิจ SMEs เร่งสืบสานพระราชดำรัส ร.9 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของไทย ผ่าน 5 โครงการหลัก
“CSR 4+1” ปีที่ 2 รวมพลังกว่า 50 ธุรกิจ SMEs ร่วมสืบสานพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของไทย ผ่าน 5 โครงการหลัก
โครงการพัฒน์ (PLUS) ภายใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอน จับมือภาคธุรกิจ SMEs กว่า 50 ธุรกิจ รวมพลังสานต่อโครงการ “CSR 4+1” ปีที่ 2 เพื่อช่วยเหลือสังคม แก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาคารเรียน และครู ผ่านกิจกรรม 5 โครงการหลัก ได้แก่
1.โครงการก่อร่างสร้างครัว เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันเด็ก
2.โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเสื้อผ้าและเครื่องแบบนักเรียน
3.โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของนักเรียน
4.โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่ เพื่อแก้ไขและปรับสภาวะแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก โดยเร่งแก้ไขส่วนที่มีปัญหาในด้านความปลอดภัย
5.โครงการอยู่ดีมีครู เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู
นางสาวกนกภรณ์ มิตสุโมโต้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการ “CSR 4+1 ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 2 ว่าทั้ง 5 โครงการเป็นการสร้างสรรค์โมเดลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้เป็นแนวทางต้นแบบ โดยมีภาคธุรกิจ SMEs กว่า 50 ธุรกิจ ที่อยู่ในโครงการพัฒน์ ภายใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอน มารวมพลังกันทำงานร่วมกับโรงเรียนที่เป็นต้นแบบจำนวน 5 โรงเรียน ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงานของทั้ง 5 โครงการ และแนวทางการดำเนินงานในปีที่ 2 มีดังนี้
>>โครงการก่อร่างสร้างครัว
เกิดจากการนำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โมเดลแก้ไขปัญหาที่มีชื่อว่า “ปลูก ปรุง แปร แล้วเปลี่ยน….” โดยในปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ร่วมกับโรงเรียนวัดสมานมิตรมงคล จังหวัดสระบุรี ทดลองสร้างแปลง ปลูกแล้วเปลี่ยน… ขึ้นภายในโรงเรียน โดยความร่วมมือของเด็กนักเรียน ครู คนในชุมชน นักธุรกิจ และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุน และมีการดูแลแปลงปลูกพืชร่วมกัน จากนั้นทีมงานได้มีการลงพื้นที่โรงเรียนเพื่อทำกิจกรรม ปรุงแล้วเปลี่ยน…. ซึ่งเป็นการนำผลผลิตในแปลงปลูกมาสร้างสรรค์เป็นเมนูอาหารกลางวันที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ปรุงโดยแม่ครัวของโรงเรียนซึ่งเป็นครู และยังได้รับการสนับสนุนจาก เชฟเริญ “จำเริญ สุธรรมโกศล” เชฟชื่อดังผู้มากด้วยประสบการณ์ มาร่วมคิดค้นสูตรอาหารกลางวันที่เหมาะสมกับเด็ก ๆ เพื่อมอบให้โรงเรียนได้นำไปใช้ในโอกาสต่อ ๆ ไป
กิจกรรมถัดมาคือ แปรแล้วเปลี่ยน…. โดยนำวัตถุดิบท้องถิ่นในชุมชน หรือในแปลงผักของโรงเรียน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับโรงเรียน โดยการสนับสนุนจากดีไซเนอร์ในการออกแบบแพ็กเกจและสร้างแบรนด์ให้กับโรงเรียน นั่นคือแบรนด์ “สมานมิตร” พร้อมทั้งการฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ให้แก่บุคลากรของโรงเรียน โดยทีมงานที่มีประสบการณ์ เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าของโรงเรียนด้วย
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ 2 ทางโครงการฯ มีเป้าหมายที่จะทดลองโมเดลต้นแบบในการแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันให้แก่เดพร้อมส่งเสริมบุคคลตัวอย่าง ได้แก่ แม่ครัวผู้เสียสละ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานให้แก่บุคคลเหล่านั้นต่อไป
>>โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว
เป็นโครงการที่นำรูปแบบสหกรณ์มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ “สหกรณ์ออมชุด” ภายใต้คอนเซ็ปต์ การจัดสรรทรัพยากรร่วมกันให้ ‘พอดี’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชุดนักเรียนอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบการยืม–คืนชุดนักเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสินค้าโรงเรียน โดยร่วมกับแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ สร้างช่องทางการจัดจำหน่าย และสนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่โรงเรียน ซึ่งในการดำเนินงานโครงการฯ นั้น ทางทีมงานได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนต้นแบบจำนวนสองแห่ง โดยลงพื้นที่พูดคุย เก็บข้อมูลการวัดขนาดตัวน้อง ๆ นักเรียน การติดตามผลการยืม-คืนชุดนักเรียน ที่โรงเรียนวัดคลองโมง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้เข้าไปพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลที่โรงเรียนวัดเจริญสุขาราม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเริ่มทดลองโมเดลสหกรณ์ออมชุดเพิ่มเติม
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ 2 ทางโครงการฯ ยังคงเดินหน้าผลักดันกิจกรรมสหกรณ์ โดยมีการเชื่อมโยงกับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพื่อให้เกิดกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนเพิ่มมากขึ้น และยังมีการส่งเสริมเชิดชูบุคคลผู้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในชุมชน และครูผู้เสียสละในการทำงานอีกด้วย
>> โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล
เป็นโครงการที่สืบสานแนวคิดจากโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยมุ่งหวังปลูกฝังเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และส่งเสริมให้ใช้ความสามารถของตนเองในการช่วยเหลือสังคม โดยในปีที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้มีการสร้างสรรค์เวทีสำหรับเยาวชนขึ้น โดยร่วมกับโรงเรียนต้นแบบ คือ โรงเรียนวัดปากคลองบางคู้ จังหวัดลพบุรี สนับสนุนให้นักเรียนแสดงความสามารถถ่ายทอดความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นลพบุรี ผ่านศิลปะการแสดงรำลพบุรี เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเยาวชนอื่น ๆ และนำรายได้จากการแสดงไปใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาห้องพยาบาลในโรงเรียน และสุขภาพของนักเรียน รวมถึงกิจกรรมในโรงพยาบาลด้วย ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี และยังมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้ารับการพิจารณาทุนการศึกษาจากสถาบันด้วย
โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นที่ 5 โดยในปีนี้มีเป้าหมายในการทำกิจกรรม โรงเรียนสานสุข กับโรงเรียนต้นแบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนสามารถทำงานต่อได้ด้วยตัวเอง และขยายโครงการออกสู่ชุมชน โดยโรงเรียนจะเข้าไปช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลท่าวุ้งในการจัดซื้อเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) มูลค่า 150,000 บาท และช่วยระดมทุนจัดสร้างห้องปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยการชักชวนเด็ก ๆ จากทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินในโครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล ปี 1 และ 2 กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเยาวชนต้นแบบที่ใช้ความสามารถเพื่อช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่อุทิศตนเพื่อสาธารณสุขชุมชน เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป
>> โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่
โครงการนี้นำแนวคิดจาก โครงการพระดาบส มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โมเดล “ช่างคิดส์ ช่างทำ” เพื่อสร้างให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานช่างในพื้นที่ชุนชน และต่อยอดไปเป็นอาชีพ และคอยดูแลสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ของตนเองด้วย ในปีที่ีผ่านมาโครงการฯ ได้เริ่มต้นทดลองโมเดลจากงานช่างไม้ โดยร่วมกับโรงเรียนบ้านปง (วัฒนาวิทยาคาร) จังหวัดแพร่ ซึ่งคณะทำงานได้ทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการร่วมกับเด็ก ๆ และผู้ที่สนใจ โดยการลงพื้นที่ศึกษาวิชาศาสตร์พระราชา และเก็บข้อมูลร่วมกับโรงเรียน เพื่อทำความเข้าใจปัญหา และจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ 2 ทางโครงการฯ จะจัดตั้งร้าน "ช่างคิดส์ ช่างทำ" ในโรงเรียนต้นแบบ คือ โรงเรียนบ้านปง (วัฒนาวิทยาคาร) จังหวัดแพร่ ให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการสร้างสินค้าภายใต้แบรนด์ "คิดส์บวก" เพื่อจัดจำหน่าย หาทุนมาสนับสนุนการทำงาน และสมทบทุนในการจัดตั้งร้าน "ช่างคิดส์ ช่างทำ" โดยจะทำให้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับนำไปใช้ขยายผลกับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป ขณะเดียวกันจะส่งเสริมบุคคลต้นแบบที่ร่วมพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นแบบอย่างในการคิดและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป
>> โครงการอยู่ดีมีครู
แรงบันดาลใจของการดำเนินโครงการนี้มาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ที่มุ่งหวังให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และกลายมาเป็นการสร้างสรรค์โมเดล “ศิลป์ สาน สร้าง” ที่นำเอาภูมิปัญญาเดิมของท้องถิ่นมาออกแบบใหม่ร่วมกับดีไซเนอร์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีดีไซน์ และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น และนำรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูหรือบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งในปีที่ผ่านมาคณะทำงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนต้นแบบ คือ โรงเรียนบ้านมาบเหียง จังหวัดปราจีนบุรี โดยผลิตถ่านดับกลิ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำวัสดุเหลือจากการเผาถ่านทั่วไป มาออกแบบดีไซน์ใหม่เป็นสินค้ารูปมะม่วง และนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ ใหม่ เพื่อนำไปจำหน่าย และนำรายได้ไปใช้สนับสนุนการจัดจ้างครู ผ่านการสร้างแบรนด์ X-KRUSIVE และกลยุทธ์ สินค้าจำกัดจำนวน (Limited Product) ซึ่งได้มีการออกสินค้า Collection แรกเป็น กระเป๋ากระจูด ที่ผลิตจากวัสดุท้องถิ่น และมีจำนวนขายจำกัดเพียง 100 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของการผลิตสินค้า 1 Collection นั้น จะสามารถสร้างรายได้เพื่อนำไปใช้ในว่าจ้างครูได้จำนวน 1 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี
สำหรับการดำเนินงานในปีที่ 2 ทางโครงการฯ มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดสินค้าชุมชน โดยเริ่มมีการจำหน่ายสินค้าของชุมชน และจะมีการออกสินค้าภายใต้แบรนด์ X-KRUSIVE ใน Collection ที่ 2 ควบคู่ไปกับดำเนินการส่งเสริมครูตัวอย่างที่อุทิศตนในการดูแลเด็กเล็ก และผู้นำต้นแบบที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มคนในชุมชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้วก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย
การดำเนินโครงการ “CSR 4+1” ทั้ง 5 โครงการในปีที่ 2 จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค อาคารเรียน รวมทั้งจำนวนครูที่เพียงพอในการดูแลนักเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีคุณภาพชีวิต และคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น เติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดี และช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป