ADS


Breaking News

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เร่งขับเคลื่อน “นครสวรรค์” สร้างต้นแบบจังหวัด BCG Model ตรวจเยี่ยมหารือ วว.

“ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์” หารือการขับเคลื่อน “นครสวรรค์” เพื่อเป็นต้นแบบจังหวัด BCG  Model พร้อมศึกษาดูงาน วว.

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) 

(12  เม.ย. 2566 วว. เทคโนธานี) 

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  และคณะ  ประกอบด้วย  ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่  (บพท.)  ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ศึกษาดูงาน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  พร้อมหารือการขับเคลื่อนจังหวัดนครสวรรค์ด้วย BCG  Model  กับ นายชยันต์  ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และคณะ  ใน  4  ประเด็นหลัก  ได้แก่   1) BCG  ขับเคลื่อน “นครสวรรค์” ต้นแบบจังหวัด  BCG  Model   2)  BCG สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัด   3)  BCG ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัด  และ  4) แนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง อว. และจังหวัดนครสวรรค์ โอกาสนี้  นายสมพร มั่งมี   กรรมการ  วว.   ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ  วว.  พร้อมคณะผู้บริหาร  บุคลากร  ร่วมให้การต้อนรับ โดย  วว. ได้จัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างผลงาน BCG  in Action  นำเสนอต่อ รมว.อว. และคณะ  ซึ่งเป็นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา  เสริมศักยภาพ  และตอบโจทย์ให้  เกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน  และผู้ประกอบการ SMEs , Startup  อย่างเป็นรูปธรรม  โดยจะเป็นโมเดลสำคัญในการดำเนินงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่อื่นๆ ให้ยั่งยืนต่อไป  

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์   กล่าวว่า   อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนา ที่มีเป้าหมายร่วมคือ "ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี"  สามารถลดต้นทุนการผลิต และการวิจัย  รวมทั้งบริหารจัดการภายในได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานระดับสากล จากทรัพยากรคุณภาพของประเทศที่เราได้เปรียบนานาชาติ  สนับสนุนให้มีการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวม ซึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของ อว. ที่มีศักยภาพในการร่วมขับเคลื่อน BCG Model  อย่างเป็นรูปธรรม  ผ่านการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ  ช่วยให้สังคมของเราแข็งแกร่ง ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

“...กระทรวง อว. มีความยินดีอย่างยิ่งในการร่วมผลักดันให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นโมเดลความสำเร็จ ในการเป็นต้นแบบจังหวัด  BCG  Model ในวันนี้เป็นวาระที่เจ้าของพื้นที่มาพบกับทรัพยากรทั้งปวงของ อว.  และ Supply มาเจอกับ Demand  อย่างแท้จริง ผลงานของ วว. ที่จัดแสดงในวันนี้จะสามารถตอบโจทย์ให้กับจังหวัดนครสวรรค์ เชื่อมั่นว่าความสำเร็จร่วมกันจะเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้...”  ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์  กล่าว

นายชยันต์  ศิริมาศ   ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์มุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG  ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการดำเนินงานโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และมุ่งไปที่พืชเศรษฐกิจ 3 ชนิดของจังหวัด คือ ข้าว  อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง  พร้อมทั้งมีบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ 132,737 ไร่  เป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การดำเนินงาน BCG ร่วมกับกระทรวง อว. สำเร็จเป็นรูปธรรม 

ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   กล่าวว่า  วว. มุ่งดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและสนองนโยบายของ อว. ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างต่อเนื่อง  โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย การบริการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นเวลาร่วม   60  ปี รวมถึงศักยภาพของทีมบุคลากรที่เข้มแข็ง  สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกภาคส่วน  โดย วว. มีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานคือ  สร้างความเข้มแข็งให้  ผู้ประกอบการและชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรมที่ วว. มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งพันธมิตรหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ  เอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ส่งผลให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้าน Area based  ทั้งนี้จากการดำเนินงานของ วว. ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศ  ก่อให้มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 16,000 ล้านบาท  คิดเป็น 17.69 เท่า เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร ช่วยแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ด้วย วทน. อย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ  

ในโอกาสที่ รมว.อว .และคณะ  ได้มาศึกษาดูงานและร่วมหารือในกิจกรรมดังกล่าว  วว.  จัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างผลงาน  BCG  in Action  ดังนี้

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์    นำเสนอ  นวัตกรรมปุ๋ย สารปรับปรุงดิน   ชีวภัณฑ์  เห็ดไมคอร์ไรซา    การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ   ไม้ดอกไม้ประดับ (โครงการมาลัยวิทยสถาน)  ภายใต้การดำเนินโครงการ พ.ร.ก. เงินกู้ และการสนับสนุนทุนเป็นผลจากการดำเนินงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเกษตรชุมชน บูรณาการด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้บริการภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างครบวงจร

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร   นำเสนอ  ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดสมุนไพรไทย   อาทิ   โทนเนอร์สับปะรด  โลชั่นลดเซลลูไลท์จากตำรับสมุนไพรตรีกฎก   ผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปากจากใบฝรั่งและ มะแขว่น  เซรั่มดอกบัวแดง   ครีมบำรุงผิวจากเห็ดโคนน้อย   เซรั่มเพื่อผิวกระจ่างใสจากสาหร่ายสีแดง เครื่องดื่มมะขาม Nectar เซรั่มลดริ้วรอยจากเมล็ดมะขาม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอาเจียนจากขิง แชมพูใบหมี่   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเปบไทด์ข้าว   และเครื่องสำอางลดการอักเสบของสิวจากข้าวหอมมะลิ    

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ   จัดแสดง  การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวสารดัชนีน้ำตาลต่ำสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ผลิตภัณฑ์จากโปรตีนถั่วแดงเข้มข้นที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) น้ำเชื่อมแคลอรี่ต่ำ  เฉาก๊วยกรอบ นอกจากนี้ยังจัดแสดงผลงานของ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร  (FISP) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งต้องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารออกสู่ตลาด ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระดับห้องปฏิบัติการ และการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิต  พร้อมบริการสายการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภค เครื่องดื่ม วิเคราะห์ทดสอบ ประเมินอายุเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยมาตรฐาน GMP

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ  นำเสนอความเชี่ยวชาญของ  3  ศูนย์ ได้แก่  ศูนย์นวัตกรรมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM)  ด้านบริการครบวงจรวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่เพื่อการเกษตรในระดับห้องปฏิบัติการและทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำและหัวเชื้อผง  ศูนย์จุลินทรีย์  ในฐานะเป็นแหล่งกลางรวบรวมเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิดที่มีประโยชน์ในการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 : 2008  ดำเนินกิจกรรมงานวิจัยและงานบริการด้านจุลินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจุลินทรีย์อย่างยั่งยืน  และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (ALEC)   ที่มุ่งเน้นการผลิตชีวมวลสาหร่ายเพื่อเป็นวัตถุดิบ  ในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัช สิ่งแวดล้อม พลังงาน อย่างยั่งยืน  วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายอย่างครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ 

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม    นำเสนอ   กระบวนการผลิตไบโอเมทานอล  (Biomethanol)  หรือกรีนเมทานอล  ซึ่งใช้สารตั้งต้นชีวภาพในการผลิต อาทิ ก๊าซชีวภาพ  ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  โดยวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2557  ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตไบโอเมทานอลตั้งแต่ระดับ 0.025 ลิตร/วัน เมื่อสำเร็จจึงขยายขนาดกำลังการผลิตเป็น 1 ลิตร/วัน และ 5 ลิตร/วัน  ขณะนี้ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย   พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม    

ต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า  ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน โดยการสนับสนุนของ  บพข. โดยระบบมีประสิทธิภาพสูง เกิดมลพิษต่ำกว่าการเผาไหม้ทั่วไป มีศักยภาพรองรับวัตถุดิบ 10 ตันต่อวัน โดย วว. มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้สนใจ เพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ช่วยลดผลกระทบด้านสุขอนามัยชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างยั่งยืน  รวมทั้งนำเสนอต้นแบบถังปฏิกิริยาผลิตก๊าซชีวภาพแบบแห้งแนวนอน  

การจัดการขยะชุมชนและขยะพลาสติก “ตาลเดี่ยวโมเดล”  จังหวัดสระบุรี  ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการขยะที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาปรับใช้ให้เหมาะสมในการจัดการขยะแต่ละขั้นตอน  มุ่งสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลักษณะขยะของประเทศไทย  

 วัสดุกรองสีน้ำอ้อยจากเถ้าชานอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาว   โดย  วว.  ร่วมกับบริษัท ดิจิทรานส์ โซลูชั่นส์ จำกัด โดยการสนับสนุนจาก บพข.  ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการผลิต ลดการใช้พลังงาน ลดการสูญเสียน้ำอ้อยระหว่างกระบวนการผลิตได้  ลดการใช้สารเคมีทั้งกระบวนการเติมปูนขาว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเรซิ่น  หากขยายผลสู่อุตสาหกรรมจะสามารถผลิตวัสดุกรองสีจากของเหลือทิ้งประเภทเถ้าให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อลดการนำเข้าและสามารถส่งออกเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

สารบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบในอุตสาหกรรม    ด้วยการลดสี   ลดกลิ่น กำจัดค่าแอมโมเนียไนโตรเจน ค่าฟอสเฟต และค่าความสกปรก โดยไม่ต้องปรับความเป็นกรดด่างและไม่ทำให้ค่าของแข็งละลายน้ำ (TDS) เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถนำน้ำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้รวมถึงการใช้งานในระบบหม้อต้มไอน้ำ ช่วยยืดอายุการใช้งานของเมมเบรน ลดปัญหามลภาวะจากของเหลือทิ้งประเภทเถ้า สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง ลดการนำเข้าสารเคมีและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปกำจัด

ศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ  (BioD)  นำเสนอการบริการวิจัย/วิเคราะห์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล การสลายตัวทางชีวภาพในเบื้องต้นของวัสดุทั่วไปในปุ๋ยหมัก ดิน น้ำ  การบำบัดสารอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการทางชีวภาพ  ด้วยศักยภาพห้องปฏิบัติการมาตรฐานระบบ ISO/IEC 17025 (สาขาเคมี พลาสติกสลายตัวได้) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ISO 17088 จากสถาบัน DIN CERTCO ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  และขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบด้านพลาสติกชีวภาพตามมาตรฐาน ISO 17088 กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

สำนักรับรองระบบคุณภาพ นำเสนอการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพ  ISO 17088 : 2012 ให้การรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP  และเกษตรอินทรีย์)   และมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย (Thailand  Tourism  Standard) 

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ   จัดแสดง  เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ วัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูปสำหรับป้องกันการกัดเซาะ ซึ่ง วว. ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.  ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำคลองชลประทาน  ลดการสูญเสียน้ำ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ประกอบด้วย   ต้นแบบชุดวัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูปเพื่อการส่งน้ำ  ชั้นป้องกันในการรับแรงอัด/แรงแรงเฉือนจากการไหลของน้ำ และชั้นเมมเบรน ป้องกันการรั่วซึมของน้ำและกักเก็บผิวดิน