ปลากุเลาเค็มเกลือหวาน สุดยอดของฝากจากอ่าวปัตตานี เพิ่มรายได้ระดับฐานรากชุมชน
ปลากุเลาเค็มเกลือหวาน ของฝากจากอ่าวปัตตานี พร้อมสร้างรายได้ในระดับฐานรากชุมชน
จากการที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ อ่าวปัตตานี ของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม และคณะจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบอ่าวที่มีประชากรประมาณ 50,000 คน จากการทำประมง ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากการจับสัตว์น้ำเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างที่ถูกส่งมอบเป็นของฝาก สำหรับคณะผู้มาเยือนในครั้งนี้ คือ ปลากุเลาเค็มเกลือหวานปัตตานีน้ำหนักเกือบครึ่งกิโลกรัม บรรจุในแพ็คเกจอย่างสวยงาม ภายใต้แบรนด์ บ้านอานีตา ที่พัฒนาแบรนด์ Anita House โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม หัวหน้าโครงการวิจัย “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตฐานรากชุมชนชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย : กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี” จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เปิดเผยว่า อ่าวปัตตานีเป็นแหล่งปลากุเลาธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปลากุเลาในบ้านเราจะมี 2 ชนิด ที่ปัตตานีเป็นปลากุเลาหนวดสี่เส้น เป็นกุเลาประจำถิ่น ไม่ได้เดินทางไปไหน ตัวไม่ใหญ่ แต่เนื้อจะมันกว่า อีกชนิดเป็นปลากุเลาตัวใหญ่ ถ้าจะให้แนะนำทานปลากุเลาตัวเล็กจะดีกว่าตัวใหญ่
“ผมทานประจำ ที่บ้านต้องมีกุเลาติดบ้านไว้ คิดอะไรไม่ออกง่ายที่สุดคือ ข้าวสวยร้อนๆ กินกับกุเลา จะทอดแล้วบีบมะนาวนิดหน่อยน้ำลายไหลเลย วันนี้ที่มอบให้กับสื่อมวลชนเป็นแบรนด์ใหม่น้ำหนักประมาณ 4 ขีด กิโลหนึ่งมีตั้งแต่ราคา 800 - 1,500 บาท แบรนด์บ้านอานีตาเป็นของชาวบ้าน ที่บ้านตาวา อ. หนองจิก จ.ปัตตานี โดยชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำปลากุเลา ให้เป็นหนึ่งในแบรนด์ของปัตตานี พัฒนาแบรนด์ Anita House โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ โดยเข้าไปดูในเพจ หรือ กูเกิล หรือ โทร 065-926-2052
รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า เดิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้าไปช่วยชาวบ้านพัฒนาเรื่องปลากุเลา ตอนนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้งรัฐบาลเห็นความสำคัญ หลังจากที่เอเปคมีการนำปลากุเลาตากใบไปโชว์ในเวทีระดับโลกในการประชุมเอเปค กุเลาตากใบซึ่งได้จีไอ ก็ผลิตไม่ทันไปช่วงหนึ่ง และพอเอเปคนำกุเลาไปทำเมนูอาหารก็ทำให้กุเลาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการอัพเกรดปลากุเลาขึ้นมาได้อย่างมากจากอานิสงส์ของเอเปค
ตอนนี้เรากำลังทำงานวิจัยด้านชีววิทยาเกี่ยวกับปลากุเลาร่วมกับฮ่องกง จะเป็นประโยชน์ในด้านการแปรรูปปลากุเลาและจะกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านได้อย่างดี เพราะปริมาณปลากุเลาที่ปัตตานียังมีปริมาณเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะวิถีชาวประมงจะเลือกใช้อวนตาใหญ่จับ ตัวหนึ่งจะมีขนาดประมาณ 3-4 ขีด ขึ้นไปนอกจากนี้เกลือหวานก็เป็นวัตถุดิบที่มีเฉพาะที่ปัตตานี ทำให้รสชาติไม่เค็มแบบคมแต่จะเค็มแบบกลมกล่อม เกลือหวานจะมีธาตุที่เป็นองค์ประกอบไม่เหมือนที่อื่น
ขอแนะนำเมนูที่ง่ายที่สุด หั่นปลากุเลาเป็นชิ้นบางๆ ทอดเอาขึ้นมา หั่นพริกหัวหอม บีบมะนาว กินกับข้าวต้มหรือข้าวสวย หรือจะเป็นคะน้าปลาเค็มก็สุดยอด ข้าวผัดก็อร่อย
ปลากุเลาเป็นสินค้าที่คนซื้อไม่ได้กินคนกินไม่ได้ซื้อ เพราะเป็นของฝากเสียมากกว่า อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลอง ปลากุเลาเค็มเกลือหวาน บ้านอานีตา ของฝากจากนักวิจัยที่มอบให้ และพัฒนาแบรนด์ Anita House โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
บ้านอานีตา ANITA HOUSE ปลากุเลาเค็ม สูตรเกลือหวานปัตตานี FROM NATURAL ราชาปลาเค็ม ปลากุเลาจากแหล่งวัตถุดิบ 3 น้ำจากทะเลปัตตานี แหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตสําคัญปลากุเลาเค็มที่มีชื่อเสียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมแล้วที่จะคัดสรรปลากุเลาเค็มมาตรฐาน ส่งตรงถึงบ้าน เนื้อแน่น มัน อร่อย ด้วยสูตรหมักเกลือหวานและวิธีเตรียมปลาจากผลวิจัย ทำให้ปลาไม่เค็มจัดจนเกินไป ทอดแล้วเนื้อน่ารับประทาน ผลิตโดย กลุ่มแปรรูปปลากุเลาปากบางตาวา 44/6 ม.1 ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
สอบถามและสั่งซื้อได้ที่ FB : Anita House ปลากุเลาเค็ม คัดเกรดพรีเมี่ยม โทร : 087-294-4653 , 065-926-2052
บทความจาก นางสาวจุฬาพิช มณีวงศ์ สถานีวิทยุกองทัพบก