MEI หลักสูตรอัพสกิลนักดนตรีสายพันธุ์ใหม่ ดุริยางคศิลป์ ผนึก วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล ปั้นนักดนตรีสู่นักบริหารมือโปร
ดุริยางคศิลป์ ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เปิดหลักสูตร MEI อัพสกิลนักดนตรีสายพันธุ์ใหม่ สู่การเป็นนักบริหารอย่างมืออาชีพ
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือเปิดหลักสูตร MEI (Music Entrepreneurship and Innovation) หลักสูตรปริญญาตรีดนตรี ควบปริญญาโท สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมใช้เวลาเรียน 4 ปีครึ่ง ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญเติมเต็มประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะสามารถดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าไปด้วยดีในอีกมิติหนึ่ง
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวถึงความร่วมมือของหลักสูตรนี้ว่า เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนด้านดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ ออกแบบหลักสูตร เพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ
“ส่วนใหญ่คนที่เก่งทางดนตรีก็อยากจะเล่นดนตรีอย่างเดียว หากได้เติมทักษะความรู้ทางธุรกิจเป็นอาวุธติดตัวเพิ่มขึ้น จะสร้างโอกาส ให้กับคนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ เติบโตได้อย่างถูกทางและแข็งแกร่ง สังเกตเห็นได้จากธุรกิจเพลงของเกาหลีที่ไปไกลระดับโลก นอกจากเจ้าของบริษัทจะเล่นดนตรีได้แล้ ยังมีความรู้ในเชิงธุรกิจ เขาจึงรู้ว่าธุรกิจดนตรีจะไปในทิศทางใด”
การเปิดหลักสูตรร่วมครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของ 2 องค์กรที่มีมาตรฐานสูง โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับรางวัล Top 50 จากการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2022 ในขณะที่ วิทยาลัยการจัดการเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาด้านการจัดการบริหารธุรกิจทั่วโลกเพียง 5% ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้
ทั้งนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร ผ่านไป 5 ปี คาดว่าผู้ที่จบหลักสูตร MEI จะมีความเข้าใจทั้งด้านดนตรี และนวัตกรรมทางธุรกิจ มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงพาณิชย์ ที่ไปด้วยกันกับศิลปะทางดนตรีได้ นอกจากจะช่วยพัฒนาธุรกิจส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพ ยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ด้วย
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตนักดนตรีพันธุ์ใหม่ ให้เรียนรู้ Mindset เกี่ยวกับผู้ประกอบการ หลักสูตร MEI จึงเหมาะกับนักศึกษาทั้งที่ทางบ้านมีธุรกิจ เมื่อเรียนจบสามารถช่วยสานธุรกิจต่อ และผู้ที่สนใจจะติดอาวุธเพิ่มเติมในการจัดการธุรกิจ เตรียมพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับวันจะยิ่งปรับเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ ในเรื่องเทคโนโลยี เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เป็นผู้ประกอบการที่เน้นด้านนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นแค่ SME เท่านั้น” ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงเนื้อหาหลักสูตร MEI เพิ่มเติมว่าเน้นสอนใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิชานวัตกรรมต่างๆ 2. การบริหารจัดการธุรกิจ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ Start up ซึ่งมี Exim Bank เป็นพาร์ทเนอร์
“เป้าหมายของวิทยาลัยการจัดการ คือการเป็นผู้นำการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ พัฒนาการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ (Practical Active Learning) ซึ่งหลักสูตรนี้จะมีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักบริหาร "ตัวจริง" ในองค์กรระดับแนวหน้า การเรียนรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ (Business Creativity and Design Thinking) การปรับใช้ กลยุทธ์เชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริหารจัดการ การสร้างความร่วมมือเครือข่ายธุรกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียนเทอมแรก ผู้เรียนอาจต้องปรับตัว เนื่องจากเพิ่งเปลี่ยนสถานะจากมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาเป็นนักศึกษา จึงค่อยๆปูพื้นฐานไปก่อนแล้วเริ่มเรียนจริงจังเมื่อเข้าปี 1 เทอมสอง หลังจากเรียนจบจะได้วุฒิปริญญาตรีและปริญญาโทพร้อมกัน เบื้องต้นใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าเร็วมาก สามารถออกไปเป็นผู้บริหาร จัดการธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ” รศ.ดร.วิชิตา เผยถึง สาระสำคัญของหลักสูตร
สำหรับ คุณสมบัติในการศึกษาต่อหลักสูตร MEI คือผู้ที่จบมัธยมปลายที่มีความสนใจด้านดนตรี และต้องการเรียนการจัดการด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย ต้องผ่านการออดิชันทั้งจากวิทยาลัยดุริยางศิลป์และวิทยาลัยการจัดการ โดยตั้งเป้าเปิดรับครั้งแรกไม่เกิน 30 คน จุดเด่นของหลักสูตร เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีควบคู่ปริญญาโท ทำให้ประหยัดเวลาจากการเรียนตามปกติได้ถึง 1 ปีครึ่ง รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นโอกาสในการทดลองค้นหาตัวเองอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตได้
ผู้ที่สนใจสนใจ สมัครเรียนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2565 ศึกษาข้อมูล หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่ www.music.mahidol.ac.th