วช. ผนึก สอศ. ประกาศรางวัลติดดาว 15 ผลงานเด่น สร้างแรงจูงใจเยาวชนส่งท้ายกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาฯ ภาคเหนือ คึกคัก
วช. ร่วมกับ สอศ. มอบรางวัลติดดาว 15 ผลงานเด่น เสริมแรงจูงใจให้เยาวชนในกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาฯ ภาคเหนือ
วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดพิธีมอบรางวัลติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา ในกิจกรรม“การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคเหนือ” วันสุดท้าย โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
รางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 15 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบปิดแบบปรับระดับน้ำ จาก วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุ่นตกปลาจากส่วนเหลือทิ้งลำต้นมันสำปะหลัง จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ และผลงานเครื่องกรอฝ้ายสำหรับถักทอด้วยระบบไฟฟ้า จาก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลงานเมี่ยงคำอบแห้งเสริมโปรตีนจากถั่วแปจ่อเขียว จาก วิทยาลัยเทคนิคตาก ผลงานทีดา ดิโอเดอเรินท์ ฟุทสเปรย์ จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และผลงานสบู่ขัดผิวเส้นใยกัญชง จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ได้แก่ ผลงานคอนโดจิ้งหรีดอัจฉริยะ จาก วิทยาลัยการอาชีพสอง ผลงานเครื่องช่วยลอกและติดฟิล์มจอ LCD จาก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน และผลงานชุดควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขนาดเล็ก จาก วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก 4. ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลงานสปอยเลอร์ดักจับฝุ่น PM 2.5 ด้วยอนุภาคประจุลบ จาก วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผลงานเตาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจพิษณุโลก และผลงานเตาแก๊สชีวมวลจากตะเกียบเหลือทิ้ง จาก วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ผลงานโคมไฟจากมูลช้าง จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ผลงานเครื่องตัดฟลัฟฟี่รักษ์โลก จาก วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย และผลงานรถยนต์ไฟฟ้า Kotaka EV สำหรับคนพิการ จาก วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์
นอกจากนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ที่ร่วมเป็นวิทยากรในการบ่มเพาะบุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้ร่วมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทุกสถาบันการศึกษา ที่ร่วมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะในครั้งนี้ด้วย
สำหรับกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566” วช. ร่วมกับ สอศ. จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดในระยะเวลา 3 วัน โดยนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้ารับการอบรม จะนำเอกสารเชิงแนวคิด หรือ Concept Paper มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดในภาคกลางและภาคตะวันออกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับต่อไป