ADS


Breaking News

วช. หนุน ม.นเรศวร ยกระดับสตรอว์เบอร์รี 89 แอนโทไซยานินสูง สู่เชิงพาณิชย์ปีหน้า

วช. เผย พร้อมส่งสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 89 ออกสู่ตลาดปีหน้า
รศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท
มหาวิทยาลัยนเรศวร
     วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
     รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89" ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
     ปัจจุบัน คณะนักวิจัยได้ทำการทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในแปลงปลูกของสถานีวิจัยเกษตรโครงการหลวง ทั้ง 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง สถานีเกษตรหลวงแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง ซึ่งหากผลการทดลองเป็นที่สำเร็จแล้วจะทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ให้มีมาตรฐานและคาดว่าจะสามารถทำการค้าในตลาดได้ในปี 2567

การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ
Research and Development on Pre and Postharvest Technology of Strawberry Fruit cv. Praratchatan #89 in the North.
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะ
     สตรอว์เบอร์รี'พันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2563 ในโครงการวิจัย “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสาร แอนโทไซยานิน” (โดยเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี พ.ศ.2557-2561) โดยปีพ.ศ. 2557 ได้ดำเนินการผสมพันธุ์ระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ โดยเป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล เมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ผลมีลักษณะรูปทรงกรวยปลายตัด ขนาดใหญ่ ผิวผลหนา มีสีแดงอมส้ม ผิวทึบแสง เนื้อในกลวง มีความแน่นเนื้อสูง มีรสเปรี้ยวอมหวาน กรอบ น้ำน้อย เส้นใยมาก และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่นิยมรับประทานสด ช้ำยาก ทนทานต่อการขนส่ง เหมาะสำหรับการแปรรูป และสตรอว์เบอร์รีพันธ์ุพระราชทาน 80 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ โดยเป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่น คือ ลักษณะผลเป็นทรงกรวยถึงทรงกลมปลายแหลม ขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักผลเฉลี่ย 15 กรัมต่อผล ผิวผลมีสีแดงสด เนื้อในเต็ม มีความแน่นเนื้อปานกลาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน มีความหวานเฉลี่ย 10-13 องศาบริกซ์ (º Brix) เหมาะสำหรับใช้รับประทานสด หลังจากทำการผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้งสองสายพันธุ์แล้ว จึงนำเมล็ดลูกผสมดังกล่าวมาเพาะ โดยมีจำนวนเมล็ดที่เพาะทั้งสิ้น 300 เมล็ด ต่อมาใน ปีพ.ศ. 2560 ได้ทำการปลูกต้นสตรอว์เบอร์รีลูกผสมเหล่านั้น และทำการคัดเลือกลูกผสมดังกล่าว โดยคัดเลือกจากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ผลมีลักษณะแดงเข้ม ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ มีความแน่นเนื้อสูง มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการสร้างสารแอนโทไซยานินสูง และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นดังกล่าว โดยใช้ส่วนของไหล ได้จำนวนทิ้งสิ้น 500 ต้น จากนั้น ในปีพ.ศ. 2561-2563 จึงทำการขยายต้นไหลจำนวน 6,000 ต้น ปลูกคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จนได้พันธุ์ที่มีความคงที่ และมีลักษณะผลสีส้มแดงถึงแดงเข้ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 20.60 กรัม ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง (สารแอนโทไซยานิน)รวมเฉลี่ย 40.83 มิลิกรัม/100 กรัม น้ำหนักสด ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89" ในปีพ.ศ. 2565