ADS


Breaking News

วช. ลงพื้นที่ จ.พะเยา เยี่ยมชมงานวิจัย “แผ่นไอซิ่งที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia”

วช. ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา ดันงานวิจัย “แผ่นไอซิ่งที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia”
นายเอนก  บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช.
รศ.ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยพะเยา
ผศ.ดร.วิชญ์พล  ฟักแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และคณะทีมนักวิจัย จาก มหาวิทยาลัยพะเยา
นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด
     วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งมี รศ.วรนุช ศรีเจษฎารักข์ อาจารย์ประจำสาขา ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ฯ ในการนี้ รศ.ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุทธินันท์  ศรีรัตยาวงศ์  ผศ.ดร.วิชญ์พล  ฟักแก้ว และ ดร.รัชนีวรรณ  อังกุรบุตร์ ทีมนักวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้การต้อนรับ   ทีมนักวิจัยได้ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ในการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบสำหรับผลิตแผ่นไอซิ่งเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบภายในประเทศตลอดจนช่วยลดการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม
     นายเอนก  บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งโครงการ “โครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์” ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก วช. เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) ทั้งในด้านการแก้ปัญหา โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดและการส่งออกของแผ่นไอซิ่งที่จะสามารถลดต้นทุนในการนำเข้าของผู้ประกอบการได้มากกว่า 50% เพิ่มความเชื่อมั่นว่าในสินค้าตัวที่มีศักยภาพในด้านการแข่งขันและการทางธุรกิจของ (SMEs) ด้วยงานวิจัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆโดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการของทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยรวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับชุมชนและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในมิติของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังคนคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
     ผศ.ดร.วิชญ์พล  ฟักแก้ว ตัวแทนทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ ได้ทำการพัฒนาเครื่องจักรผลิตไอซิ่งชีทแบบต่อเนื่อง ที่มีความเหมาะสมในการผลิตแผ่นไอซิ่งชีทในระดับอุตสาหกรรม และยังได้พัฒนาสูตรไอซิ่งชีทจากวัตถุดิบธรรมชาติในประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นแผ่นพิมพ์ภาพสำหรับติดบนหน้าเค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ สามารถการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเวลามากกว่า 6 เดือน โดยที่ค่า water activity ต่ำกว่า 0.6  และมีค่าจุลินทรีย์อยู่ภายใต้มาตรฐานตลอดระยะเวลาเก็บ 6 เดือน ผลิตภัณฑ์แผ่นไอซิ่งที่ได้จากเครื่องต้นแบบมีความเรียบเนียน ไม่มีฟองอากาศขนาดใหญ่ ไม่มีเม็ดตาปลา สามารถลอกออกจากแผ่นพลาสติกได้ง่าย ภาพที่ได้จากการพิมพ์มีความคมชัด สวยงาม เทียบเคียงได้กับคุณภาพของสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เครื่องจักรผลิตไอซิ่งชีทที่พัฒนาขึ้นมีกำลังการผลิต 1,028 แผ่น/วัน ประสิทธิภาพเชิงพลังงานความร้อนในกระบวนการระบบอบแห้งที่พัฒนาขึ้นดีกว่าแบบเดิม ทำให้ประหยัดพลังงานที่ใช้ในการอบแห้ง ส่งผลให้ทุนด้านพลังงานของการผลิตลดลงได้ถึง 48%  ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบสามารถเพิ่มยอดการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจและสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้
     นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด กล่าวว่า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแผ่นไอซิ่งในประเทศไทย โดยแผ่นไอซิ่งที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย ถือว่าเป็น complementary goods (สินค้าประกอบกัน) กับสินค้าหลัก “Edible Ink” หรือหมึกกินได้ จากแนวโน้มของการนำเข้าแผ่นไอซิ่งจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและปริมาณสีผสมอาหารทานได้ที่ประกอบการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาผลิตแผ่นไอซิ่งต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อผลิตไอซิ่งชี้ทแบบต่อเนื่อง จากงานวิจัยและนวัตกรรมมีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตแผ่นไอซิ่งที่มีคุณภาพเทียบเท่า ที่ได้คุณภาพดีกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาต้นทุนต่ำกว่าเดิม ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรไม่ต่ำกว่าปีละ 12 ล้านบาท ในกรณีที่ product line สามารถผลิตได้ใน full capacity และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแผ่นไอซิ่งที่ใหญ่ที่สุดและได้รับมาตรฐานที่ดีที่สุดใน Southeast Asia ทั้งนี้หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถสอบถาม ความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำต่าง ๆ พร้อมด้วย สินค้า ชุดประกอบธุรกิจ อุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ของเรา มีตั้งแต่เครื่องปริ้นเตอร์ เครื่องปริ้นบัตร เครื่องสกรีนเสื้อ เครื่องพิมพ์สีผสมอาหาร  เครื่องปริ้นระบบเลเซอร์ และน้ำหมึกเพื่อการพิมพ์ทุกชนิดได้ที่ สำนักงานใหญ่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ถนนวิภาวดี ซอย 56 กรุงเทพฯ
     ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร วช. และผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตแผ่นไอซิ่ง ที่ใช้สำหรับพิมพ์เค้กรูปภาพ ใช้คู่กับเครื่องปริ้นเค้ก จากเครื่องผลิตไอซิ่งชีทที่ออกแบบโดยทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ณ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด  จังหวัดพะเยา