ADS


Breaking News

GIT เผยสุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับ ถอดรหัสธรรมชาติ ประกาศรางวัลมูลค่ารวม 360,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน

GIT โชว์ศักยภาพนักออกแบบเครื่องประดับ ถอดรหัสธรรมชาติ ร่วมลุ้นชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 360,000 บาท และโล่พระราชทาน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT

วันที่ 5 กันยายน 2565: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดพิธีมอบโล่รางวัล พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  และประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ GIT World’s Jewelry Design Awards ครั้งที่ 16 พร้อมเผยโฉม 4 ผลงานสุดท้าย ใน ธีม True Nature – Reveal the Secret of Nature ลุ้นรางวัลรวมมูลค่ากว่า 360,000 บาท (10,000 USD) โดยได้รับเกียรติจาก นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับ ถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย เป็นอันดับ 3 ในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ GIT World’s Jewelry Design Awards เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการ นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปที่มีใจรักในการออกแบบและสนใจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้มีเวทีและโอกาสในการแสดงศักยภาพและพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลก สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์เครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เพื่อการตอกย้ำการเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวเสริมว่า โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 16 (GIT’s World Jewelry Design Awards 2022) ภายใต้หัวข้อ True Nature – Reveal the Secret of Nature ที่เปิดโอกาสให้ผู้รักการออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่แท้จริง ลดความสูญเสียในการผลิต นำมาประยุกต์ให้เกิดความน่าสนใจ รวมถึงการนำพลอยเก่า พลอยที่เหลือใช้ มา Upcycle ให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ และตอบโจทย์ตลาดการค้าเครื่องประดับจากทั่วทุกมุมโลก อันเป็นการต่อยอดและพัฒนาขีดความสามารถของนักออกแบบไทย ในปีนี้ มีนักออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดรวม 527 ชิ้นงาน จาก 22 ประเทศ ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ผศ.ดร. วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คุณสิริพร ภาณุพงศ์ รองประธานกรรมการ สำนักงานกฎหมาย Royal Law และอดีตอัครราชทูต กรุงเวียนนา, ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, คุณสิริน ศรีอรทัยกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด, คุณณิชยา เอครพานิช  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท บลูริเวอร์ 1977 จำกัด Prof. Paolo Torriti Professor University of Siena ประเทศอิตาลี, Mr.Tsukasa Muramatsu เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Studio Muramatsu, Ms.Richa Goyal Sikri-Creative Strategist, Journalist and Storyteller โดยได้คัดเลือกผลงานทั้งหมด จนเหลือ 32 แบบวาด และเลือกแบบวาดที่มีคะแนนสูงสุด 4 แบบวาด นำไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง เพื่อตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ และแสดงผลงานผ่านแฟชั่นโชว์ในวันนี้ ซึ่งผู้ชนะในการประกวดครั้งนี้ ได้แก่ 

รางวัลชนะเลิศ 

นายการัณย์ คงคาหลวง จากประเทศไทย

ชื่อผลงาน สวนของธรรมชาติ (Opaque Garden) 

สนับสนุนการผลิตโดย บริษัท รีกัล จิวเวลลี่ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 

นายอธิษฐ์พัฒน์ สุทธิกรกมล และนางสาวมนัสนันท์ ผลพูน จากประเทศไทย

ชื่อผลงาน The Opalized Wood 

สนับสนุนการผลิตโดย บริษัท เทวิกา จิวเวลรี่ จำกัด 

และวิทยาลัยเทคนิคแพร่ 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2

นายกิติศักดิ์ หมายเจริญ จากประเทศไทย

ชื่อผลงาน ผสาน (MERGE)

สนับสนุนการผลิตโดย บริษัท มาร์เวล จิวเวลรี่ จำกัด 

รางวัลชมเชย

Ms. Lilin Wang and Mr. Geng LI จากประเทศจีน

ขื่อผลงาน Melt 

สนับสนุนการผลิตโดย บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด 


และรางวัล Popular Vote ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เทรเชอร์ โปรดักส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (แบรนด์เครื่องประดับ Ownory) L.S. Jewelry Group (ห้างเพชรหลีเสง) และ บริษัท หทัย เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ จำกัด ซึ่งผู้ร่วมสนุก และส่งผลโหวตกว่า 250,000 ราย และผลงานที่ได้ คือ JDA302 Mrs. Mahnaz Dorra ผลงานชื่อ Cotton flower นักออกแบบชาวอิหร่าน 

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการประกวดการออกแบบ ได้ที่ www.facebook.com/gitwjda