ADS


Breaking News

สันทรายงาม กับการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า อย่างยั่งยืน

     เรื่องขยะล้นเมือง ทิ้งขยะในที่ห้ามทิ้งยังเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเรา  และอาจจะทวีเพิ่มพูนขึ้นหากไม่รีบแก้ไขเยียวยาให้ถูกทาง เช่นเดียวกับกรณีปัญหาการทิ้งขยะของชาวบ้านในตำบลสันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงราย ที่นี้มีปัญหาการทิ้งขยะอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการแอบทิ้งขยะในเขตอนุรักษ์ป่าพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ ในหมู่บ้าน 3 บ้านชวา ตำบลสันทรายงาม และการแอบทิ้งขยะของชาวบ้านตลอดริมแม่น้ำอิงตลอดแนว
     นายประสิทธิ์  พิลาวุฒิ  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันทรายงาม   อ.เทิง  จังหวัดเชียงราย  เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของตำบลสันทรายงามใน 7 หมู่บ้าน ที่มีประชากรกว่า 4,233 คน จำนวน 1,439 ครัวเรือน เนื่องจากเป็นเทศบาลขนาดเล็กขาดงบสนับสนุนการจัดการขยะ ชาวบ้านจะต้องจัดการกันเองจะเป็นรูปแบบฝัง เผาตามหัวไร่ปลายนา 
     การแก้ปัญหาระยะยาว เทศบาลตำบลสันทรายงาม  มีโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะล้นในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มีแผนเปิดโรงงานขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ 25 ปี จ่ายการลงทุนเต็มร้อยเปอร์เซ็น
     ทั้งนี้ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ผลการรับฟังประชาชนในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่บ้านสันทรายมูล  บ้านใหม่สันทราย หมู่7  บ้านขวาหมู่ 2  บ้านสันทรายงามหมู่ 2  บ้านสันทรายทองหมู่ 6  บ้านหนองบัวหมู่ 5  บ้านหนองสามัคคี หมู่ 4  มีประชาชนเข้าร่วมการจัดรับฟังกว่า 800 คน มีผู้เห็นด้วย ผ่านด้วยคะแนน 85.4 % หลังจากสำรวจความคิดเห็นแล้ว ยังจำต้องเข้าสู่ขบวนการต่างๆ  อีกหลายขั้นตอน ไม่สามารถจัดสร้างได้ทันทีคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ทั้งนี้แม้การจัดรับฟังจะมีเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ทางเทศบาลมีความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจในชุมชนรวมถึงผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยในลำดับต่อไป
     สำหรับโครงการฯ จะมีการดำเนินการเป็นศูนย์บริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีกำจัดแบบเผาตรงที่ถูกลักษณะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับปริมาณขยะสูงสุด 500-700 ตันต่อวัน  ไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง แก้ปัญหาขยะมูลฝอยในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพ
     เป็นโรงงานเผาแบบปิดไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ขยะในชุมชนเป็นเชื้อเพลิง ขยะขององค์การบริหารต่างๆเสริมได้ พื้นที่ของโรงงาน 30 ไร่   เป็นบ่อน้ำ 25 ไร่  พื้นที่สีเขียว 10  ไร่  และที่พักคนงาน ถนน อีก 15 ไร่
     สำหรับข้อดีของโครงการ ต่อชาวบ้าน เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ เกิดการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ เทศบาล เก็บภาษีท้องถิ่น ภาษีที่ดิน ภาษี VAT ได้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำมาพัฒนา ใช้ในตำบลสันทรายงาม มีกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ในตำบลสันทรายงาม ชุมชมสามารถนำเงินกองทุนมาใช้พัฒนาพื้นที่ได้ขี้เถ้าหนักของโรงไฟฟ้าขยะ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของปูนซิเมนต์ ในการทำอิฐบล็อก, ทำถนนได้
     ส่วนกรณีมีผู้มาคัดค้านต่อต้านโครงการเพราะหวั่นว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทางคณะกรรมการโครงการจะมีการจัดกลุ่มเสวนา เชิญแกนนำกลุ่มผู้ต่อต้านเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะ แต่ยังถูกปฏิเสธไม่ร่วมพูดคุยอยู่ในขณะนี้
     ส่วนประเด็นข้อสงสัยที่กลุ่มคัดค้าน ไม่ให้เปิดโรงเผาขยะแปรรูปเป็นไฟฟ้านั่น  โรงงานไฟฟ้ามีระบบการจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นระบบปิด ปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการขนย้ายขยะเข้ามาในชุมชน รถขนขยะซึ่งมีประมาณ 30 กว่าคันต่อวัน จะมีการคลุมผ้าใบมิดชิด จะไม่ให้มีกลิ่นและของเสียหลุดรอดออกจากตัวรถสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชาวบ้าน และจัดเวลาเข้าออก ไม่ให้เข้าออกในช่วงเวลาเร่งด่วน ส่วนในโรงงานไฟฟ้ามีความมิดชิด มีระบบกรองฝุ่นละอองและควันเสียจากโรงงานหลายขั้นตอน จนสุดท้ายจะมีเพียงไอน้ำที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนน้ำเสียจากขยะ จะมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่ให้ปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นระบบปิดทั้งหมด และใช้หมุนเวียนภายในโรงงาน 
     ส่วนที่กังวลเรื่องความร้อนจากการเผาอาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรนั้น ตนคิดว่าไม่น่ามีผลกระทบ เพราะพื้นที่โรงงานมีประมาณ 80-100 ไร่ ตัวโรงงานมีขนาด 25 ไร่ 
     นอกนั้นจะเป็นพื้นที่โดยรอบ  โรงงานมีระบบความคุมอุณหภูมิ ความร้อนจากการเผาจะไม่มีผลกับพืชผลการเกษตรแน่นอน และที่หน้าโรงงานและเทศบาลจะมีการติดตั้งจอมอนิเตอร์แสดงค่าอากาศ น้ำ และอื่นๆ โดยข้อมูลดังกล่าวก็จะขึ้นแสดงที่กรมควบคุมมลพิษด้วย หากชาวบ้านเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่นำเสนอ ก็สามารถร้องเรียนได้ที่เทศบาล อำเภอ และจังหวัด ตามลำดับ