วช.ดันทีม ม.มหิดล วิจัยจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ย และคิดค้นต้นแบบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบอัตโนมัติ ได้ปุ๋ยใน 24 ชม. ลดขยะ ลดการนำเข้านวัตกรรมจากต่างชาติ
วช.หนุนทีมวิจัย ม.มหิดล พัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบอัตโนมัติ ผลิตปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหามลภาวะจากขยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ปัจจุบันจึงเริ่มมีการตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น ทั้งการรณรงค์การแยกขยะและการนำขยะไปใช้ประโยชน์ โดยในส่วนของขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เริ่มมีการนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์มากยิ่งขึ้น จึงมีการนำเข้าเครื่องกำจัดขยะและเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การใช้กลุ่มจุลินทรีย์ (microbial consortium) 2 ชนิดและเครื่องต้นแบบผลิตปุ๋ยภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากบ้านเรือนให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดพิเศษ” ซึ่งมี “รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา” จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ
รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 27.37 ล้านตัน เป็นขยะอินทรีย์ปริมาณ 17.56 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด และจากขยะมูลฝอยทั้งหมดมีขยะมูลฝอยเพียงร้อยละ 43 ที่มีการจัดการตามระบบมาตรฐาน ขณะที่ร้อยละ 57 เอาไปฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าเครื่องกำจัดขยะและเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากต่างประเทศ แต่เครื่องยังมีราคาสูง และได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพต่ำ เนื่องจากไม่มีการเติมจุลินทรีย์ หรืออาจมีการเติมจุลินทรีย์ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
“ตนเองและทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด รศ.ดร.รัชนีวรรณ อุ่นแพทย์ ผศ.ดร.พัฒนียา ปรางทิพย์ และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ อรุณนวล จึงดำเนินการวิจัยเพื่อหาแนวทางลดปริมาณขยะ โดยมุ่งเน้นส่วนที่เป็นขยะอินทรีย์จากบ้านเรือน เนื่องจากขยะอินทรีย์เหล่านี้สามารถใช้จุลินทรีย์และเอนไซม์ที่เชื้อจุลินทรีย์ผลิตขึ้นมาย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จะมีการเติมกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช (plant growth promoting rhizobacterium, PGPR) เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยชนิดนี้ยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย”
ทั้งนี้ทีมวิจัย ได้มีการออกแบบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัตโนมัติ ซึ่งจะสามารถย่อยอินทรียวัตถุในครัวเรือน เช่น เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน ภายในเครื่องจะมีกลไกในการย่อยอินทรียวัตถุโดยวิธีทางกายภาพ (mechanical digestion) ซึ่งได้แก่ การบดและกวน และวิธีทางชีวภาพ (biological digestion) โดยการใช้เทคโนโลยีด้านจุลินทรีย์และเอนไซม์ที่เติมเข้าไปในเครื่องผลิตปุ๋ยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการย่อยสูงสุด สามารถเปลี่ยนจากเศษอาหารเหลือจากครัวเรือนให้กลายเป็นดินที่มีองค์ประกอบของสารอินทรีย์ ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นในเชิงคุณภาพของจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชจากธรรมชาติ
รศ.ดร.สุรางค์ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของงานวิจัยนี้อยู่ที่องค์ความรู้จากการออกแบบ การสร้าง ต้นแบบของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากอินทรียวัตถุที่มีการนำเทคโนโลยีจุลินทรีย์และเอนไซม์มาประยุกต์ใช้ในรูป microbial consortium เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการย่อยสลายอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการลดขยะอินทรีย์ในครัวเรือนแล้วยังสามารถนำไปต่อยอดการใช้นวัตกรรมการวิจัยเพื่อใช้ในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนภายในประเทศที่สนใจช่องทางในการสร้างธุรกิจ สามารถการนำองค์ความรู้ในด้านการออกแบบ และผลการทดลองที่ได้จากการเครื่องต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในการทดลองนี้ไปผลิตให้กลายเป็นสินค้าในกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้วขายให้กับคนในประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาของเครื่องผลิตปุ๋ยดังกล่าวมีราคาที่ถูกลง สร้างจูงใจให้กับผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถซื้อมาใช้ได้ในครัวเรือนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะมีการเผยแพร่ผลการวิจัยแก่สาธารณชนในรูปแบบของการตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการในวารสารระดับชาติ และส่งต่อเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนในประเทศเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากต่างประเทศได้.