วช. ยกน้องสายอาชีวศึกษา ปั้นนักคิดนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ คิดค้นผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้งานได้จริง
วช. ชูน้อง สายอาชีวศึกษา เป็นนักคิดนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้งานได้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ |
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัลและปิดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ภาคเหนือ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2656 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่ วช. และ ศอศ. ได้ร่วมมือจัดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ภาคเหนือ ปรากฏว่าได้รับความสนใจ มีอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 37 สถาบัน มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 227 คน จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และการนำเสนอผลงานจากการเข้าร่่วมกิจกรรม workshop ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ทำให้ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมตามกลุ่มเรื่องที่ผู้จัดได้กำหนดไว้ ซึ่งหลังจากที่แต่ละกลุ่มได้นำเสนอแนวคิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วช. เชื่อว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม สามารถร่วมกันพัฒนางานประดิษฐ์คิดค้นที่รองรับความต้องการของชุมชนและสังคม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 18 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือรางวัลระดับ 5 ดาว มี 4 รางวัล ได้แก่คือ 1) อุปกรณ์สางใบอ้อยและตัดต้นอ้อยเพื่อเกษตรรายย่อย จากวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย 2) เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินด้วยเทคนิคการนำเสียงผ่านกระดูก จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ 3) สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบบูรณาการ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ 4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ บ้านพงกะชี อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ 4 ดาว มี 8 รางวัล คือ 1) เครื่องคัดแยกเมล็ดแตงโมแบบแยกน้ำเพื่อเอาเมล็ด จากวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม 2) น้ำพริกผัดรากบัว จากวิทยาลัยเทคนิคตาก 3) แอปพลิเคชันจัดการเอกสารในงานมิเตอร์ของการไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย 4) การประยุกต์ใช้ Arduino นับจำนวนรถยนต์เข้า-ออก โดยอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีเมโทร 5) ระบบแผงโซล่าเซลล์หมุนตามแสงอาทิตย์ควบคุมโดยระบบแบบ MPPT เพื่อใช้กับภาคการเกษตร จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง 6) บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ 7) สถานีชาร์จรถสำหรับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าโซล่าเซลล์ จากวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย 8) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชายาไข่เค็มมรกตเพิ่มมูลค่าสินค้าเป็นอาชีพในท้องถิ่น จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ สำหรับรางวัลระดับ 3 ดาว มี 6 รางวัล คือ 1) เปรี้ยวปาก น้ำปลาหวานเนื้อแยม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 2) มาดามหม่อง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 3) หุ่นยนต์ฉีดพ่นแอลกอฮอล์และวัดอุณหภูมิ จากวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก 4) ข้าวแต๋นผักเชียงดา จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเชียงใหม่ 5) เครื่องสร้างลวดลายบนแผ่นไม้ด้วยไฟฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง 6) Mofee รถกาแฟรักษ์โลก จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่