สวพส. ชู “บ้านศรีบุญเรือง เป็นหมู่บ้านต้นแบบ” บริหารขยะ ปลอดสารเคมี สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สวพส.ยก “บ้านศรีบุญเรือง เป็นหมู่บ้านต้นแบบ”
จัดการขยะ ปลอดสารเคมี มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยมุ่งเน้นให้มีกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในลักษณะการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง ทำงานเชิงรุกอย่างบูรณาการ ทำให้ชุมชนและกลุ่มผู้นำต่าง ๆ เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงโป่งคำ ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ก้าวสู่การเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน เพราะมีแผนการจัดการขยะที่ชัดเจน จนกระทั่งชุมชนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นพื้นที่ปลอดขยะภายในปี 2565
นายชวลิต สุทธเขตต์ หัวหน้าสำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงจังหวัดน่าน กล่าวว่า ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ของชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ยึดแผนชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน ที่สามารถแก้ปัญหาขยะได้ จากความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน รวมถึงการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพงษ์ พัฒนาชุมชนอำเภอสันติสุข โรงเรียนบ้านศรีบุญเรือง และสวพส.ร่วมกันแก้ปัญหา
รวมทั้งคณะกรรมการชุมชนมีความเข้มแข็ง จากเวทีจัดทำแผนชุมชนในปี 2557 นับเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การจัดการขยะชองชุมชนบ้านศรีบุญเรืองประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ในปี 2564 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนสามารถคัดแยกขยะในครัวเรือนได้อย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 90 ของชุมชน คือปริมาณขยะในชุมชนลดลงคิดเป็นร้อยละ 51.16 จากปริมาณขณะเดิม และที่สำคัญ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนสู่วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมตามแนวทาง Zero waste เน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้เหลือในปริมาณน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ชุมชนยังมีการเปิดบัญชี “กองทุนขยะ ตำบลพงษ์” เพื่อนำรายได้ไปบริหารจัดการในกิจกรรมต่าง ๆ ชองชุมชน ทำให้ประชาชนในตำบลพงษ์เกิดความตื่นตัว มองเห็นความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น และมีความพร้อมที่จะให้ชุมชนปลอดขยะภายในปี 2565
นายสุนทร มีขาว นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา กล่าวว่า การจัดการขยะของชุมชนในตำบลพงษ์ แบ่งการทำงานเป็นระยะต่าง ๆ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 ปี 2558–2559 กระตุ้นตื่นรู้ สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน
ระยะที่ 2 ปี 2560–2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ
ระยะที่ 3 ปี 2562–2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)
ระยะที่ 4 ปี 2564-2565 เป็นชุมชนปลอดขยะแห่งแรกในจังหวัดน่าน
โดย มีครัวเรือนเข้าร่วมกิจกรรม 155 ครัวเรือน และปัจจุบันมีครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 95 ของครัวเรือนทั้งหมดในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมการคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างถูกวิธีตามหลัก 3Rs และยังกำหนดเป็นนโยบาย “ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองปลอดขยะ” มีกิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ (ขยะแลกไข่) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ถูกสุขอนามัย และแต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ รวมถึงเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ สวพส.ยังนำองค์ความรู้เรื่องการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดถ่ายทอดให้แก่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาซังข้าวโพดในพื้นที่ อีกทั้งให้การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของชุมชนในการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน มีการจัดทำบัญชีกลุ่ม และการพัฒนาศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่ม เสริมทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ให้กับสมาชิก จนกระทั่งมีตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ “ถ่านอัดแท่งศรีบุญเรือง” ซึ่งได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ถ่านอัดแท่งนำมาใช้ดูดกลิ่นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน และได้ใบรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สมาชิกสามารถสร้างรายได้และขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดการเผาในพื้นที่ ยังสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนเพิ่มขึ้น
นางสุพรรณ บูรณะเทศ ผู้ใหญ่บ้านศรีบุญเรือง กล่าวถึงความเป็นมาของชุมชนปลอดขยะ Zero waste ของบ้านศรีบุญเรืองว่า กิจกรรมหลักของชุมชน คือ การจัดการขยะให้เป็นศูนย์ มีการทำโครงการรณรงค์หมู่บ้านสะอาดที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อลดการเผา เน้นจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกและการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีให้กับทุกคนในชุมชน และจัดตั้งคณะกรรมการการจัดการขยะชุมชนอย่างเป็นทางการ โดยใช้กลุ่มอาสาสมัครของหมู่บ้าน เช่น อสม.ตรวจสอบครัวเรือนของตนเองว่ามีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีหรือไม่ รณรงค์การใช้ถุงผ้า ทุกคนให้ความร่วมมือ มีความเข้าใจตรงกัน นำไปสู่ความร่วมมือในการทำกิจกรรมส่งผลให้คนในชุมชนไม่ต้องพึ่งพาภายนอกมากเกินไป และยังส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้ป่า เช่น ยางนา ตะเคียน มะม่วงหิมพานต์ เพื่อเป็นรายได้เสริมอีก ทั้งนี้ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองถูกยกย่องให้เป็น “ชุมชนต้นแบบ” ที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะ และสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ในการจัดการขยะแบบอย่างยั่งยืนอีกด้วย