ADS


Breaking News

วช. เยี่ยม อบต. ถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร ชมนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน ฝากน้ำกับดิน ช่วยผลิตพืชผลการเกษตร

วช. หนุน อบต. ถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ฝากน้ำกับดิน ช่วยผลิตพืชผลการเกษตร

     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนงานวิจัยแก้ปัญหาภัยแล้งต้านภัยธรรมชาติ จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร” 

     โดยในวันนี้ (วันที่ 10 พฤษภาคม 2565) วช. ได้ลงพื้นที่ชุมชน​ตำบล​ถ้ำสิงห์​ เพื่อฟังบรรยาย สรุปโครงการวิจัย เรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร” พร้อมเยี่ยมชมโครงการวิจัย​ธนาคารน้ำใต้ดิน​ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.พระครูวินัยธร วรรณไชย สิริวณฺโณ มูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโรเพื่อการวิจัย หัวหน้าโครงการ​ ดร.พรนค์พิเชฐ​ แห่งหน​ นักวิจัย​ นายนิคม​ ศิลปะศร​ ประธานกลุ่มธนาคาร​น้ำใต้ดิน​ตำบล​ถ้ำ​สิงห์​ และนายโภคิน​ เกิดศรี​ ตัวแทนชาวบ้านชุมชน​ตำบลถ้ำสิงห์​ ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ตำบลถ้ำสิงห์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร 

     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่มีความทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดผลความต้องการในการใช้น้ำกลับสวนทางกับปัจจุบันที่เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง อาจด้วยเพราะวิถีโลกวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ และสรรพชีวิต ไม่ว่าจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคการประกอบอาชีพทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมหรือการบริโภคเพื่อดำรงชีวิต เมื่อน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตทำให้ความจำเป็นและความต้องการน้ำนั้นมากขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกฤดูแล้งหลายพื้นที่และนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงน้ำ ดังนั้น วช. จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาและพร้อมให้ความสนับสนุนการดำเนินงานให้กับทีมนักวิจัยมูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโร ในการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการจัดการน้ำ โครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน นวัตกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร” จึงมีส่วนช่วยในการนำความรู้ทางด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ทางสังคมที่ดีขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ปาก ท้อง ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นงานวิจัยที่ท้าทายปัญหาสังคม นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถบริหารการจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป

     ดร.พระครูวินัยธร วรรณไชย สิริวณฺโณ มูลนิธิหลวงปู่สงฆ์จันทสโร เพื่อการวิจัย เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงส่วนมากเป็นพื้นที่ภูเขา มีสภาพดินเป็นดินเหนียวสีแดง  เหมาะสมที่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรและการใช้ประโยชน์ ในที่ดินโดยทั่วไป จึงมีการทำสวนกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น  สวนทุเรียน, เงาะ , ลองกอง, กาแฟ , ปาล์มน้ำมัน  และยางพาราเป็นต้น โดยเฉพาะสวนผลไม้ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของชาวตำบลถ้ำสิงห์และขึ้นชื่อระดับประเทศ คือ ทุเรียน สวนทุเรียนต้องใช้น้ำเยอะแต่แหล่งน้ำมีจำนวนจำกัดในช่วงแล้งมีปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี จึงนำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารการจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อช่วยลดปัญหาให้กับชุมชนในฤดูกาลเพาะปลูก ธนาคารน้ำใต้ดิน จึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาการนำน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดินเพื่อกักเก็บไว้ เสมือนเป็นการฝากน้ำเอาไว้กับดิน แล้วค่อยนำเอากลับมาใช้ (ถอน) เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้น้ำ เปรียบเสมือนกับการฝากเงินไว้กับธนาคารวันใดที่ต้องการใช้เงินก็สามารถถอนเงินที่เก็บออมไว้ออกมาใช้ได้ 

     ดร.พรนค์พิเชฐ​ แห่งหน​ นักวิจัย​ กล่าวว่า​  ในช่วงฤดูฝนที่มวลน้ำมีจำนวนมากแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปตามธรรมชาติ โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการกักเก็บน้ำไว้กับดินเหมือนกับการฝากน้ำไว้กับดิน เป็นไปตามหลักการของ “ศาสตร์พระราชาการเติมน้ำใต้ดิน” ธนาคารน้ำจึงเป็นแก้มลิงที่มองไม่เห็น โดยหลักการการทำงานของ นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ 1.) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการเติมน้ำลงในแอ่งน้ำโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อขุด หรือแอ่งน้ำธรรมชาติ โดยทำการดัดแปลงแอ่งน้ำเล็กน้อยด้วยการขุดทำสะดือให้กับแอ่งน้ำ 3 จุด คือ บริเวณหัว ท้าย และตรงกลางแอ่งน้ำ โดยขุดให้พ้นชั้นดินเหนียวก็จะถึงชั้นหินอุ้มน้ำประมาณ 7-12 เมตร เปิดขอบแอ่งน้ำให้เส้นทางน้ำสามารถไหลลงมาเติมได้ทุกทิศทาง ซึ่งไม่ว่ามวลน้ำจะมีปริมาณมากเท่าใดก็จะไม่ล้นขอบบ่อ น้ำจะถูกนำไปกระจายเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำในบริเวณกว้าง และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง น้ำจากชั้นหินอุ้มน้ำจะเอ่อล้นออกมาชดเชยปริมาณน้ำในแอ่งน้ำที่แห้งลงไป ทำให้มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีสำหรับใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพวิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็ม 2.) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเติมน้ำลงใต้ดินในลักษณะของบ่อซับน้ำ โดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ แล้วขุดสะดือหลุมให้ลึกลงไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างและยาวตามความเหมาะสม เพื่อใช้สำหรับตั้งท่อพีวีซี ขนาด 1.5–2 นิ้ว ให้อากาศที่ก้นบ่อสามารถระบายขึ้นมาได้ จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดใหญ่ที่ชั้นล่างสุด แล้วใส่หินเขื่อนขนาดกลางหรือเศษวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เศษอิฐ เศษกระเบื้อง ขวดแก้ว ในชั้นตรงกลาง จากนั้นใส่หินเขื่อนขนาดเล็กเอาไว้ชั้นบน ปลายท่อด้านบนควรใส่ท่อขวางไว้เพื่อป้องกันเศษวัสดุต่าง ๆ ตกลงไปอุดตัน หินเขื่อน เป็นหินก้อนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 3–15 นิ้ว ใช้สำหรับก่อสร้างในงานชลประทาน และงานที่ต้องใช้หินก้อนขนาดใหญ่อื่น ๆ 

     นายนิคม​ ศิลปะศร​ ประธานกลุ่มธนาคาร​น้ำใต้ดิน​ตำบล​ถ้ำ​สิงห์​ กล่าวว่า​ ธนาคารน้ำใต้ดิน ของ อบต.ถ้ำสิงห์​ การรวมกลุ่ม​กันระดมความคิดกับชาวบ้าน​ในชุมชน​ เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการ​น้ำ​​การนำน้ำไปฝากไว้ใต้ดิน​พบว่าช่วยลดปริมาณ​น้ำท่วมช่วยเหลือ​ชุมนุม​ใต้น้ำ​ทำให้มีน้ำกักเก็บ​ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มประสิทธิภาพ​ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการเกษตร​ ทุเรียนพืชเศรษฐกิจ​ของ​จังหวัด​ชุมพร​ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์​เป็นแบบระบบปิด​มีการออกแบบบ่ออย่างเหมาะสมตามระบบบริหารจัดการน้ำที่จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระมีเพียงพอตลอดทั้งปีสร้างสมดุลทางธรรมชาติ​ ในการนี้นายโภคิน​ เกิดศรีชาวบ้านชุมชน​ตำบลถ้ำสิงห์​ได้รวมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธนาคาร​น้ำใต้ดิน​ที่จะเป็นต้นแบบเผยแพร่​แก่ชุมชน​ในพื้นที่อื่น​ ๆ​ ต่อไป​

     ทั้งนี้ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง บำบัด​น้ำเสีย​ ส่งเสริมการอนุรักษ์ดิน ต้นน้ำลำธารเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพแก่สังคมของพืชและสัตว์ ตลอดจนนำความชุ่มชื้นมาสู่พื้นดินสมดังคำว่า “น้ำคือชีวิต” ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคง “รู้รักษาคุณค่าน้ำ ฝากน้ำไว้กับดินต้านภัยธรรมชาติ”