ADS


Breaking News

วว. , EXIM BANK , ธ.ก.ส. , ภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน หารือ! เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ พิชิตตลาดส่งออก 2022

วว./ EXIM BANK / ธ.ก.ส.  ภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน
จัดงานสัมมนา เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ พิชิตตลาดส่งออก 2022
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  (EXIM  BANK)   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) จัดงานสัมมนา “เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ  พิชิตตลาดส่งออก 2022” (e - Commerce  Episode) โอกาสนี้ นายธนารัตน์  งามวลัยรัตน์  ผู้จัดการ ธ.ก.ส.  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมี ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือในฐานะ วว. เป็น 1 ใน 3 หน่วยงานหลัก ซึ่งมีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาผู้ประกอบการ  SMEs  ภาคการเกษตร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  สร้างโอกาสทางการตลาดต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้มากขึ้น  และสร้างผู้ประกอบการส่งออกรายใหม่ โดยงานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้แลกเปลี่ยน  เรียนรู้   และนำความรู้ไปขยายผลในทางการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างมีกระบวนการและรูปแบบที่เป็นระบบ ผ่านการถ่ายทอดความรู้โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะนำผู้ประกอบการไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ  พร้อมทั้งเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ที่เชื่อมโยงสอดรับกับการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ  โอกาสนี้ ดร.อาภากร  สุปัญญา  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. พร้อมผู้บริหารและบุคลากรร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 27 เมษายน 2565  ณ  ห้องไฮเดนเยีย 1 ชั้น 6 อาคารแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรม ทีเค พาเลซ & คอนเวนชั่น

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า  ในความร่วมมือดังกล่าวของ วว.  EXIM  BANK  และ  ธ.ก.ส. นั้น  วว. ดำเนินบทบาทหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  (วทน.)  เสริมแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นวาระแห่งชาติ มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน  โดย  วว. มีบทบาทในการใช้ วทน. สร้าง Value  Creation จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และสอดรับกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG กลุ่มจุลินทรีย์และสมุนไพร ด้านเกษตรปลอดภัย อาหาร สารสกัด และสิ่งแวดล้อม

ในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนากระบวนการผลิต  วว. มี  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหลายด้าน ที่เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์และสามารถให้การสนับสนุนและให้ความรู้กับผู้ประกอบการเพื่อหนุนเสริมผู้ส่งออกให้ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ อาทิ การสร้างนวัตกรรมอาหารชนิดใหม่ขึ้นจากการทดลองผลิตในโรงงานนำทาง ซึ่งเรามีการให้บริการสำหรับนวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่  และมีสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) เป็นหน่วยงานที่สามารถให้การรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อการจำหน่ายและส่งออก เพื่อสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จให้แก่ผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาส และมีความมุ่งมั่น จริงจัง

“...ในปี 2565  วว. ขอปวารณาตนในการเป็นเพื่อนคู่คิดในการประกอบธุรกิจให้สำเร็จ หรือ Partner for your Success  ของผู้ประกอบทั้งหลาย ภายใต้ความร่วมมือ “โครงการเปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ พิชิตตลาดส่งออก 2022” ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้มากขึ้น และสร้างผู้ประกอบการส่งออกรายใหม่ได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าอบรมจะได้ใช้เวทีนี้เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่จะขุดค้น ตักตวงความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความสำเร็จทางธุรกิจบนพื้นฐานขององค์ความรู้อย่างแท้จริง เชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เข้มแข็งของทั้ง 3 หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายพันธมิตร จะสามารถบ่มเพาะ ยกระดับ และต่อยอดให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง ทรงพลัง และยั่งยืนต่อไป...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

อนึ่ง งานสัมมนา “เปิดโลกการค้า เจรจาธุรกิจ  พิชิตตลาดส่งออก 2022” (e - Commerce  Episode) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2565  ณ  ห้องไฮเดนเยีย 1 ชั้น 6 อาคารแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรม ทีเค พาเลซ & คอนเวนชั่น  โดยมีเนื้อหาการสัมมนาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ SMEs ได้แก่  1.BCG Model  เทรนด์ตลาดที่ SMEs ไทยต้องปรับตัว  2.การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในตลาด RCEP กฎการได้ถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎระเบียบข้อบังคับในการส่งออก  3.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและพิธีการศุลกากรในการส่งออก-นำเข้า  4.แนวคิด BCG สู่การส่งออก  5.บุกตลาด RCEP อย่างมั่นใจ ต้องปิดความเสี่ยงอย่างไร  5.กลยุทธ์ Logistics  เพื่อการค้าชายแดนและข้ามแดน  และ 6.มาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออก