วช. เชิดชูนักวิจัยจุฬา หนุน “Universal Design วิถีชีวิตที่ออกแบบได้” คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ปี 65
วช. ยกย่องนักวิจัยจุฬา จากแนวคิด “Universal Design วิถีชีวิตที่ออกแบบได้” เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2565
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว“นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2565” รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน “NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565” ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
วันนี้ (วันที่ 30 มีนาคม 2565) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2565 ให้แก่ รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่ม และอุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง 1 ในฟันเฟืองที่สำคัญคือ นักวิจัย ที่ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคมซึ่งรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อสังคมของประเทศชาติต่อไป
รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัย โดยตั้งคำถามว่า “สภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุเป็นแบบไหน” นำไปสู่หลักขององค์ความรู้ด้าน “Universal Design” การออกแบบสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนทุก ๆ กลุ่มวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนปกติ และผู้พิการ สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจ ภายใต้แนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยสามารถแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 กลุ่มคือ งานวิจัยขั้นพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ และงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์การใช้องค์ความรู้หลายสาขาวิชามาผสมผสานใช้ในการออกแบบ เป็นการออกแบบเพื่อให้ทุกคนผู้สูงอายุในชุมชนแออัด คนพิการที่ยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมที่พัฒนาและค้นหาวิธีในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสร้างพื้นที่ให้สังคมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จุดเด่นงานวิจัย “หลักการออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design ปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน” คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุจะทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุนั้นดีขึ้นก่อให้เกิดข้อค้นพบเชิงนโยบาย “สูงวัยในถิ่นเดิมชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” นำมาสู่งานออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ทุกคนทุก ๆ กลุ่มวัย คนปกติ และผู้พิการ โดยการจัดทำ “คู่มือการปรับบ้านและพื้นที่ส่วนกลางของผู้สูงอายุในเมือง” เช่น การทำราวจับไม้ไผ่ในชุมชน นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในเมืองก่อให้เกิดภูมิทัศน์ที่ดี งานออกแบบปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการโดยการทำทางลาดด้วยคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ นับเป็นงานต้นแบบการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการรวมไปถึงทุกคนในสังคมโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อให้เข้าถึงและใช้งานได้อย่างปลอดภัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้จะเป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางสาขาปรัชญาที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยเกิดการพัฒนาศักยภาพผลงานประดิษฐ์คิดค้นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่รูปแบบการพัฒนาการออกแบบ และการก่อสร้างอาคาร สถานที่ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางกายภาพและการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นเมืองสังคมน่าอยู่ ตลอดจนที่อยู่อาศัยชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและเหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกสถานะทุกวัย นำไปสู่ สุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี สานสายใยสังคม ด้วยแนวคิด “Universal Design วิถีชีวิตที่ออกแบบได้”