วช. เผยต้นแบบเครื่องประดับสุขภาพช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด19
วช. โชว์ต้นแบบเครื่องประดับสุขภาพช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด 19
ช่วงบ่ายวันนี้ (25 พ.ย. 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Research Expo Talk โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021) วช. ได้นำโครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) ที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับ ของ นางสาวมาลิน เศวตกิติธรรม แห่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาโชว์ โดยได้รับเกียรติจาก นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอผลงาน ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
นายทนง ลีลาวัฒนสุข กล่าวว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ด้วยภูมิปัญญาในการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีและช่างฝีมือเจียระไนอัญมณีและผลิตเครื่องประดับมีทักษะความชำนาญสูง ทำให้สร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีหลายแสนล้านบาทและก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานนับล้านคน รวมถึงการจ้างแรงงานทั้งในและนอกระบบ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและงานทั่วโลก คือ
1) ไม่สามารถติดต่อทำการค้าได้ เนื่องจากไม่มีเวทีในการเจรจาธุรกิจ เช่น งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ถูกยกเลิก 2) นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ 3) ร้านค้าจะถูกปิดด้วยนโยบายล็อคดาวน์ และ 4) งานสังคมต่าง ๆ ถูกยกเลิกทำให้มีผลต่อการใช้เครื่องประดับลดลง สถาบันเห็นว่า เมื่อวิกฤตนี้ผ่อนคลายลง สิ่งที่ทำให้เกิดในระยะสั้น คือ พฤติกรรมใช้จ่ายของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไปจากเดิม เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเห็นความสำคัญของสุขภาพและการใช้จ่ายอย่างประหยัด อดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม หรูหรา และบางรายซื้อเพื่อการลงทุนหรือออมเป็นสินทรัพย์ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สถาบันเห็นว่า ผู้ประกอบการจะต้องต่อยอดการผลิตเครื่องประดับให้เป็นมากกว่าการแต่งเพื่อความสวยงามมาก เช่น เครื่องประดับเพื่อสุขภาพ เครื่องประดับเพื่อการออม เครื่องประดับที่มีประโยชน์ใช้สอยและเครื่องประดับเพื่อความทรงจำ ฯลฯ
โครงการพัฒนาเครื่องประดับเพื่อสุขภาพด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพมาพัฒนาออกแบบให้เป็นเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพมาพัฒนาออกแบบให้เป็นเครื่องประดับเพื่อสุขภาพสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้มีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับทั่วไป
สำหรับผลงานในโครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาออกแบบต้นแบบเครื่องประดับสุขภาพจำนวน 7 ผลงาน ดังนี้ 1) Young ไม่ OLD โดยมีแนวคิด Jewelry with Function ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ ตัวตน รสนิยมของผู้ใส่ อันประกอบด้วยเครื่องประดับและของตกแต่งสภาพแวดล้อม ที่ส่งมอบคุณค่าด้านความคิดแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครทำให้ผู้ใช้ผู้สวมใส่ดูดี สามารถเข้ากับ Lifestyle ในยุคนี้ 2) จี้เงินตาไม้ฟอกอากาศ “หยาดบริสุทธิ์” แนวคิดเกิดจากช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั่วโลก ทุกสิ่งทุกอย่างดูหมองหม่นสิ้นหวัง แต่เมื่อเริ่มควบคุมได้ ทุกอย่างดีขึ้น ก็สัมผัสได้ซึ่งโอกาสและความหวังครั้งใหม่ เหมือนอารมณ์การสัมผัส หยาดฝนหยดใหม่ ท่ามกลางความแห้งแล้ง นำพาความชุ่มชื้นและความหวังกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 3) ความกลมเกลียวของน้ำที่ 1 (Water Harmony I) 4) ความกลมเกลียวของน้ำที่ 2 (Water Harmony II) เกิดจากผลึกน้ำที่เรียงตัวสวยงามมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้อยคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ เพื่อสื่อถึงความสมดุลและความกลมเกลียวของโมเลกุลของน้ำ โดยน้ำเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมที่สมมาตร โมเลกุลของน้ำที่เรียงตัวกันจนเกิดเป็นผลึกที่สวยงาม 5) ปีกแห่งชีวิต นักออกแบบผู้เป็นที่คิดค้นอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา นักออกแบบได้สัมผัสถึงแรงบันดาลใจและความรู้สึกของผู้มีปัญหาแขนขาอ่อนแรงและไม่สามารถเดินได้อีก ต้องนั่งรถเข็นอยู่ตลอดเวลา หมดหวังในชีวิต จนมาเจออุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้สามารถขึ้นมายืนด้วยขา ของตัวเองครั้งเปรียบเสมือนปีกที่ช่วยพยุงขาของเขาให้สามารถเดินได้อีกครั้ง 6) คอลเลคชั่น เครื่องประดับก็อากาศ เกิดจากแรงบันดาลใจของนักออกแบบ คือ เครื่องประดับที่สามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ จึงได้ออกแบบ Air Purifier Jewelry ในรูปแบบกำไล ที่ปล่อยประจุอิออนลบออกมาเพื่อจับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคและทำให้ตกลงพื้นก่อนที่เราจะหายใจเข้าไปและ 7) คอลเลคชั่น แหวนประคองนิ้ว ออกแบบให้เป็นโครงร่างตามเส้นใบไม้ หรือ เป็นแบบใบไม้ทึบสร้างลวดลายตามเทคนิคโมกุเม่กาเน่สามารถสวมใส่ เข้ากับทุกเทรนด์เสื้อผ้า Lifestyle
โครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) หวังว่าผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้ทำการออกแบบไว้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาทำการดัดแปลงหรือทำการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การคิดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-634-4999 ต่อ 451-456 อีเมล rd@git.or.th