ADS


Breaking News

ปลื้ม! อว.จัดแสดงศิลปดนตรีเพลงพื้นบ้าน ผ่านวง ไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้

อว. ปลื้ม การแสดงศิลปดนตรีเพลงพื้นบ้าน ผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้

     ช่วงค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชมการแสดงดนตรี "ไหว้สาบูรพาจารย์" ถ่ายทอดเสียงเพลงพื้นบ้าน ผ่านการแสดงของวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนที่สนใจเข้าชมการแสดง
     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดแสดงดนตรีต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติ จัดแสดงทั้งหมด 5 ครั้ง จากเดิมที่ตั้งใจนั้นจะจัด 8 ครั้งแต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ต้องจัดเพียง 5 ครั้ง ขอชื่นชม รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ที่นำวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าจัดแสดงให้ขมสุดท้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นการจบการแสดงที่สวยงาม จากนี้ไปจะเป็นโครงการอื่น ๆ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้เสนอไว้อีกหลายโครงการ ชึ่งการบรรเลงเพลงของรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นดนตรีที่มีคุณภาพสูงมากทำให้เข้าใจความเป็นมาของเพลงและเข้าใจถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมได้อย่างสนุกและเพลิดเพลิน ซึ่งการจัดแสดงแต่ละครั้งมีดนตรีพื้นบ้านมาร่วมจัดแสดงด้วย
     ในส่วนของ อว. มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างมากด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อว. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อว. ได้ช่วยทำการวิจัยโดยการนำเพลงพื้นบ้านมาใส่ในวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าก็ถือเป็นการวิจัยอย่างหนึ่ง และก่อนหน้านี้ตนเองได้เดินทางไปที่คุ้มบุรีรัตน์ก็ได้เห็นว่า อว. และ วช. สนับสนุนทุนวิจัยในการฟื้นฟูคุ้มบุรีรัตน์ได้สวยงามขึ้นมาก ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ อว. ได้มีการทำเรื่องล้านนาสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น อว. ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ ไม่ใช่แค่ทำวิจัยและนวัตกรรม แต่ อว. นำนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ไปสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้กับประเทศ หรือสร้างเศรษฐกิจเชิงวิทย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในประเทศ
     สำหรับการพัฒนาการต่อยอดในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีเพลงพื้นบ้าน คิดอยู่และกำลังริเริ่มทำอยู่โดยได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วทุกแห่งมีวงดนตรี วงดนตรีแบบไหนก็ได้ เล่นเพลงพื้นบ้านที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ก็ได้ อยากให้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค และหอการค้า ทำให้ทุกที่มีดนตรีที่เกิดความเข้มแข็งทางศิลปะวัฒนธรรมซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีเพราะว่าแต่เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมช่วยนำรายได้สูงมาให้แก่ประเทศ ส่วนจะให้มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดใดเป็นจังหวัดนำร่อง เรื่องนี้ที่ต้องพูดคุยหารือกันอีกครั้งและในส่วนที่จังหวัดลำปางก็ได้มีการพูดคุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางแล้วซึ่งก็สนใจมากและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางก็พร้อมที่จะสนับสนุน อีกด้วย
     ด้าน ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติของ "มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รองศาสตราจารย์.ดร.สุกรี เจริญสุข ในกาวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยการค้นหาเพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเล่นผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพื่อรักษาเพลงเก่า นำมาเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป 
การแสดง "ดนตรีไหว้สาบูรพาจารย์" เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ และการบูชาอาจารย์ ผ่านบรรเลงดนตรีโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดยเริ่มจากเพลงกุหลาบเชียงใหม่ เพลงลาวดวงดอกไม้ เพลงลาวจ้อย เพลงคางคกปากสระ และลาวเจริญศรี อำนวยความสะดวกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ควบคุมวงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ระหว่างการบรรเลงเพลง ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง การแสดงดนตรีฯ จัดให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 และการแสดงครั้งนี้ใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์