ADS


Breaking News

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยใช้เวลา 8 ปี เปลี่ยนลิ้นคนไทยลดการบริโภคเค็ม

เร่งขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมและมาตรการภาษีโซเดียม
ใช้เวลา 8 ปี เปลี่ยนลิ้นคนไทยลดการบริโภคเค็ม

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดการประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย เผยใช้เวลา 8 ปี เปลี่ยนลิ้นคนไทยลดการบริโภคเค็มและมุ่งหวังการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม ร่วมปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหารเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าความสำคัญในการลดการบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อช่วยลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง และจากรายงานการสำรวจในปีที่ผ่านมาโดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจในอีกด้านหนึ่งคือ สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ดังนั้นเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือโซเดียมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการภาษีสรรพสามิต จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภคและลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ และในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป 

“ทั้งนี้ปัจจุบันคนไทยบริโภครสหวาน มัน เค็ม มากเกินความพอดี ทำให้เกิดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs โดยเฉพาะการบริโภคโซเดียมต่อวัน โดยเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดไว้ ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยการลดโซเดียมเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายในการลดบริโภคเค็ม ซึ่งจะต้องลดโซเดียมให้เหลือร้อยละ 20 หรือต้องไม่เกิน 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน ของปริมาณที่เกินอยู่ในปัจจุบันภายในระยะเวลา 8-10 ปีนับจากนี้ ซึ่งนโยบายของกระทรวงการคลังจะมีทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช้มาตรการทางด้านภาษี ในการลดการบริโภคโซเดียม ของคนไทย นอกจากนี้จะต้องสร้างระบบการติดตามลดการบริโภคโซเดียมอย่างชัดเจน เมื่อได้ใช้เครื่องมือทางด้านภาษีแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจสอบการลดลงของการบริโภคโซเดียมและตรวจสอบอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า แนวทางการลดปริมาณโซเดียมโดยใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนและจุดประกายให้กับประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงข้อมูลการบริโภคโซเดียมอย่างสมดุลต่อร่างกายนั้น วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมเกินพอดี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ และเพื่อเพิ่มทางเลือกของสินค้าที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาดให้มากขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมคำนึงถึงการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์  ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs  ทั้งนี้โซเดียมนั้น ถูกใช้ในกระบวนการผลิตและถนอมอาหาร นอกเหนือจากการเพิ่มลดชาติเค็ม ซึ่งจะใช้สารทดแทนโซเดียม เช่น เกลือโพแทสเซียม ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่แพงกว่ามาก และสินค้าที่จะมีการจัดเก็บภาษีโซเดียม จะต้องเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง โดยเราต้องศึกษาอย่างละเอียดเพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงต้องให้เวลาผู้บริโภคในการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม โดยมาตรการภาษีจะทำให้ประชาชนตื่นตัวและจุดประกายให้เห็นโทษจากบริโภคโซเดียมเกินความพอดี และจะต้องทำให้มาตรการภาษีลดโซเดียมช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการลดบริโภคโซเดียมของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แสดงท่าทีที่ชัดเจนผ่านการลดปริมาณโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารมื้อหลักพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว และเครื่องปรุงรส 

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พบว่า คนไทยทำอาหารรับประทานเองในบางมื้อคิดเป็นร้อยละ 76 (ส่วนใหญ่ 1 มื้อต่อวัน) โดยมีพฤติกรรมซื้ออาหารนอกบ้านสูงถึงร้อยละ 81 (เฉลี่ยซื้ออย่างน้อยวันละ 1 มื้อ) จะเห็นได้ว่าอาหารนอกบ้านเป็นอาหารที่คนไทยในปัจจุบันนิยมรับประทานกันมาก มีความสะดวกเข้าถึงได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ก็ได้ออกมาตรการลดการบริโภคเค็มอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกระดับผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ การปรับฉลากโภชนาการให้มีการระบุปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหารในการปรับสูตรอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบสมัครใจ ซึ่งยังมีข้อจำกัดและยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลนี้ เครือข่ายฯ จึงพยายามผลักดันให้เกิดมาตรการภาษีโซเดียม ที่จะมีกติกากลางในการสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อลดช่องว่างของข้อจำกัดที่ผ่านมา และจากการสำรวจปริมาณโซเดียม 4 ภาค ล่าสุดพบว่า ภาคใต้ มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวันมากที่สุด คิดเป็น 4,107.8 มิลลิกรัมต่อวัน, ภาคเหนือ มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวัน คิดเป็น 3,562.7 มิลลิกรัมต่อวัน, ภาคกลาง มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวัน คิดเป็น 3,759.7 มิลลิกรัมต่อวัน, กรุงเทพมหานคร มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวัน คิดเป็น 3,495.9 มิลลิกรัมต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้บริโภคโซเดียมต่อวัน คิดเป็น 3,315.8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ให้บริโภคโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น

ดร.เรณู การ์ก  (Dr.Renu Madanlal Garg) Medical Officer, NCDs องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ว่าการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรนั้น ต้องมีมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนทราบถึงปริมาณโซเดียมที่มีอยู่สูงมากในอาหาร ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดรูปแบบฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การแสดงคำเตือนปริมาณโซเดียมสูง ฯลฯ จะช่วยให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าจะซื้ออาหารชนิดใดและชนิดใดไม่ควรซื้อ ส่วนการใช้นโยบายเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป จะสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับสูตรอาหารให้มีโซเดียมน้อยลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น