อาหารกระป๋องอ่วม! ต้นทุนแผ่นเหล็กพุ่ง "ภาษี AD" กำลังซ้ำเติม
วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประกรรมการ หอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย เป็นต้น ถึงปัญหาและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin Plate) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin Free Steel) อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาหารแปรรูป ยังได้รับผลกระทบจากการขนส่งสินค้าทางเรือโดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ยังมีราคาสูงขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่อง และปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากมาตรการดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามที่ภาครัฐกำหนด ดังนั้น หากมีการพิจารณามาตรการภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) สำหรับแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี ขึ้นมานั้นจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาข้อร้องเรียนของสมาชิกสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และได้ติดตามสถานการณ์ของผลการไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) สำหรับสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin Plate) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin Free Steel) ที่นำเข้าอย่างใกล้ชิด ภายหลังหอการค้าไทยได้เข้าร่วมการแถลงต่อกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผลการไต่สวนฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำของวัตถุดิบในการแปรรูป และประชาชนผู้บริโภค ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศนำเข้าแผ่นเหล็กดำ (Tin Mill Black Plate : TMBP) เพื่อมาชุบหรือเคลือบด้วยดีบุก เป็นแผ่นเหล็กทินเพลท (Tinplate) และชุบหรือเคลือบด้วยโครเมี่ยม เป็นแผ่นเหล็กทินฟรี (Tin Free) แผ่นเหล็กทั้งสองชนิดเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระป๋องและฝาสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผัก-ผลไม้กระป๋อง จากการที่ราคาแผ่นเหล็กปรับขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง 5 ไตรมาส นับแต่ไตรมาสที่ 4/2563 จนถึงไตรมาส 4/2564 ราคาของแผ่นเหล็กทั้ง 2 ชนิดดีดตัวสูงขึ้นกว่า 80% ส่งผลให้ราคากระป๋องและฝาต้องขยับขึ้นตามราว 50% กระทบต้นทุนอาหารกระป๋องในกลุ่มอาหารทะเลเพิ่มขึ้นราว 15-25% และสินค้ากลุ่มผักผลไม้เพิ่มขึ้นราว 30-50%
ปัจจุบันราคาแผ่นเหล็กนำเข้าราคาสูงขึ้นมาก ปัจจัยหลักเกิดจากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานเหล็กในตลาดโลก เนื่องมาจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่งการผลิตมากกว่า 50% ของโลก มีกำลังการผลิตเหล็กลดลง ด้วยรัฐบาลจีนดำเนินมาตรการเข้มด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม จึงมีคำสั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศมีความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น ราคาเหล็กทุกชนิดจึงขยับตัวขึ้นอย่างรุนแรง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาแผ่นเหล็กโลกราคาขึ้นเกิดจากรัฐบาลจีนลดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเหล็ก เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ โดยประกาศยกเลิกการคืนภาษีเพื่อการส่งออก ( Export Tax Rebates) 13% มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 สำหรับแผ่นเหล็กทินฟรี และแผ่นเหล็กทินเพลท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ราคาแผ่นเหล็กนำเข้าจากจีนจึงมีราคาแพงขึ้น
อย่างไรก็ดี มาตรการ AD สำหรับการนำเข้าแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี จะซ้ำเติมต้นทุนของราคากระป๋องให้แพงมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยมีผู้ผลิตแผ่นเหล็กสำหรับทำกระป๋องเพียง 2 ราย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตรวมกันไม่ถึง 50% ของความต้องการใช้ในประเทศซึ่งอยู่ที่ปีละราว 600,000 ตัน ผู้ผลิตกระป๋องจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดแคลนซึ่งผู้ผลิตแผ่นเหล็กทั้งสองรายไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตแผ่นเหล็กทั้ง 2 ราย ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการ AD สำหรับแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรีที่นำเข้าด้วยเหตุผลว่าบริษัทได้รับความเสียหายจากการโจมตีราคาจากแผ่นเหล็กนำเข้า ซึ่งข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาควบคู่กันคือความสามารถในการผลิตของบริษัททั้งสอง ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้น
ซึ่ง กรมการค้าต่างประเทศ พิจารณารับคำร้องให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดของแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี เมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2563 ตามลำดับ ซึ่งล่าสุด ได้ออกร่างผลการไต่สวนฯ ชั้นที่สุดของแผ่นเหล็กทั้ง 2 ชนิด เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในปี 2562 เป็นเกณฑ์พิจารณาว่าผู้ผลิตแผ่นเหล็กทั้งสองรายได้รับความเสียหาย ในขณะที่ปี 2563-2564 สถานการณ์แผ่นเหล็กโลกเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นสูงมาก หากผลการพิจารณาตัดสินให้ใช้มาตรการ AD ผลกระทบจะเกิดแก่ผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานนี้ไม่น้อยกว่า 9 แสนราย ยาวนานถึง 5 ปีจึงจะมีการพิจารณาใหม่อีกครั้งว่าจะถอนการใช้มาตรการหรือไม่ ซึ่งอัตราอากรที่จะบังคับใช้นั้น แตกต่างกันในรายบริษัทและรายประเทศที่ไทยนำเข้า โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่ 22.67% สำหรับแผ่นเหล็กทินเพลท และ 24.73% สำหรับแผ่นเหล็กทินฟรี การเก็บอากร AD จะซ้ำเติมสถานการณ์ราคาแผ่นเหล็กโลกนำเข้าที่แพงมากแล้ว และไม่พอใช้ในประเทศให้แพงยิ่งขึ้นไปอีก และมีผลกระทบต้นทุนการผลิตเป็นลูกโซ่ถึงราคากระป๋อง และอาหารกระป๋อง ซึ่งปลายทางคือผู้บริโภคที่อาจจะต้องจ่ายแพงขึ้นในสถานการณ์เศรษฐกิจอ่อนแรงและต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงธุรกิจส่งออกที่สูญเสียตลาด ส่งผลถึงเกษตรกรและชาวประมงซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำต้องสูญเสียรายได้ตามไปด้วย (รายละเอียดดังเอกสารแนบ)
ดังนั้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ขอนำเสนอข้อเสนอที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
- ขอให้ชะลอการใช้มาตรการ AD เป็นเวลา 18 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าแผ่นเหล็กมาผลิตได้ และป้องกันการขาดแคลนกระป๋องในอุตสาหกรรมต่างๆ
- ขอให้รัฐสนับสนุนการเปิดเวทีเจรจาร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างผู้ผลิตแผ่นเหล็ก ผู้ผลิตกระป๋อง และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อหาแนวทางบริหารการใช้แผ่นเหล็กในประเทศ และแผ่นเหล็กนำเข้าอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรีภายในประเทศ จะมีเสถียรภาพด้านปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านราคาที่สูงมากของแผ่นเหล็ก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- ขอให้กระทรวงพาณิชย์ นำข้อเสนอดังกล่าวนี้ ไปร่วมพิจารณาในการประชุม AD แผ่นเหล็กในการประชุมครั้งต่อไป