ADS


Breaking News

วช. เผย “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือน” ย่อยสลายขยะใน 48 ชม. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ 64

วช. เปิดตัว “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือน” ย่อยสลายขยะใน 48 ชม. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2564

     วันที่ 12 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “ NRCT talk : เปิดบ้านการวิจัย By NRCT” เปิดตัว รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ผลงาน “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ” ของ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ แห่ง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยต้นทุนการจัดการต่ำ หนุนชุมชนมีส่วนร่วม สร้างสุขลักษณะที่เป็นมิตร

     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม NRCT talk ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงาน ภายใต้บทบาทของ วช. ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ผลักดันไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2564 นี้ วช. ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาสังคมวิทยา ให้กับสิ่งประดิษฐ์ “ เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ” ของ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ แห่งคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการลดปัญหาขยะ และการปนเปื้อนขยะอินทรีย์กับขยะประเภทอื่น ๆ อันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ช่วยให้ปัญหาการจัดการขยะในชุมชนได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี นับเป็นผลงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ในทางอื่นได้ สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศให้ยั่งยืน

     ด้าน ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ปริมาณขยะในประเทศไทยมีมากกว่า 40,000 ตัน ต่อวัน ต้นทุนการจัดการกับขยะโดยเฉลี่ย กิโลกรัมละประมาณ 4 บาท หรือประมาณ 160 ล้านบาททั่วประเทศ ในอดีต การกำจัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือนจะใช้วิธีการฝังกลบ หรือสร้างถังหมักขยะอินทรีย์โดยกรรมวิธีหมักแบบปกติ ซึ่งทั้งสองวิธีต้องใช้ระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขลักษณะ นักวิจัยจึงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในครัวเรือนที่ส่งกลิ่นเหม็น และยากต่อการกำจัด โดยสามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้ในระยะเวลาอันสั้น (48 ชั่วโมง) มีกรรมวิธีที่เหมาะสม  ประหยัดเวลา และพื้นที่ในการจัดการ สามารถลดปัญหาการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยเฉพาะครัวเรือน ขยะอินทรีย์จึงปนเปื้อนน้อยลง ลดภาระการจัดการของส่วนกลาง ทำให้กระบวนการการคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีโดยส่งเสริมให้รับผิดชอบร่วมกัน ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

     “ หากมีการนำเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถลดปริมาณขยะโดยรวม กว่า 60% ลงได้ หรือคิดเป็นงบประมาณกว่า 64 ล้านบาทในแต่ละวัน จากการจัดการขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ขยะประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ปนเปื้อนกับขยะอินทรีย์ก็ยังสามารถนำไปใช้งานใหม่ หรือใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ มีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจโดยรวมทั้งทางตรงและทางอ้อม  ตัวเครื่องผ่านการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว ขณะนี้ ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามหน่วยงาน ผู้ประกอบการ และกลุ่มบุคคลต่าง ๆ รวม 100 กว่าเครื่อง และอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมกับ บริษัท เอ็นไวสมาร์ทเทค จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนทุน Pre-Seed จากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ” ดร.นรินทร์ กล่าว

     เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนี้ มีการใช้วงจรไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามาช่วยในการทำงาน แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่ำ และตัวเครื่องมีขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณขยะอินทรีย์จากครัวเรือน พร้อมกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน อาศัยหลักการของการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยทั่วไปที่ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ เช่น สารอินทรีย์ (เศษอาหาร) จุลินทรีย์ และออกซิเจน โดยจุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่มีออกซิเจน ทั้งนี้โดยธรรมชาติกระบวนการดังกล่าวจะมีข้อจำกัด ที่ทำให้ระบบการย่อยสลายส่งกลิ่นเหม็น นักวิจัยจึงได้ใช้วิธีการทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการกวนผสมองค์ประกอบที่กล่าวมาตลอดเวลา พร้อมกับเติมอากาศเข้าไปในระบบอย่างเพียงพอต่อความต้องการของจุลินทรีย์ ทำให้ความร้อนระบายออกจากระบบ สภาวะการย่อยสลายก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงที่ และสมบูรณ์ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ โดยหลังจากใช้เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์แล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการสามารถนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย