พม. เดินหน้า MOU ผสานภาคีเครือข่ายเร่งป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
พม. เดินหน้าจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ผสานภาคีเครือข่ายเร่งป้องกัน
และแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
ในวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยมี นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม และบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จำนวนทั้งสิ้น 27 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 16 หน่วยงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 11 หน่วยงาน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่มีสาเหตุปัจจัยจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับวันจะทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ อีกหลายประการ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันหรือมีความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ที่มาจากความคิด ความเชื่อของคนในสังคม ค่านิยม หรือวัฒนธรรมประเพณี ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อีกทั้ง ยังส่งผลต่อชุมชน และสังคมโดยรวม รัฐบาลได้มอบหมายให้ พม. ดำเนินงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ จึงนำมาซึ่งความร่วมมือกันในวันนี้ เพราะ พม. ไม่สามารถขับเคลื่อนงานเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หลายสาขาวิชาชีพ เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่มีความซับซ้อน ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่ออีกว่า การผสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้ง 27 หน่วยงานในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง พม. กับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นส่วนสำคัญในการระดมสรรพกำลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ทั้งในเชิงเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และคุ้มครอง รวมทั้งดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองสถานการณ์ และความต้องการของผู้ประสบปัญหาได้มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานว่ามาตรการที่สำคัญที่สุด คือ “การป้องกัน” เพราะหากเราดำเนินการป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการในการคุ้มครอง และดำเนินคดี ดังนั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาปัญหาความรุนแรงให้เหลือน้อย และหมดไปจากสังคมไทยในที่สุด