ADS


Breaking News

‘ชัชชาติ’เผยแนวทางรับมือภัยพิบัติผ่านการถอดบทเรียน กรณีไฟไหม้ รง.หมิงตี้ เสนอแนวคิด 3 พร้อม 5 กำแพง + 1 เยียวยา

‘ชัชชาติ’ วางแนวการรับมือภัยพิบัติ ผ่านการถอดบทเรียน 

กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ สมุทรปราการ เสนอแนวคิด 3 พร้อม 5 กำแพง + 1 เยียวยา  

     จากกรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ที่ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา นับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและมีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในรัศมีประมาณ 5-10 กิโลเมตรรอบโรงงาน เนื่องจากควันดำของเพลิงไหม้ได้นำพาเอามลพิษลอยไปในอากาศ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการสูญเสียเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อปพร.) จำนวน 1 นาย รวมทั้งทรัพย์สินประชาชนโดยรอบเสียหาย และใช้เวลามากกว่า 24 ชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 

     นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า ภายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ตนและทีม เพื่อนชัชชาติ มีความสนใจในเหตุการณ์นี้ เพราะถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่นำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันได้เห็นถึงความไม่พร้อมในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ รวมถึง เรื่องความไม่เข้มงวดของกฎหมายผังเมืองที่ปล่อยให้โรงงานเก็บสารเคมีอันตรายสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในระยะอันใกล้โดยปราศจากมาตรการควบคุม และ ความไม่พร้อมในการรับมือจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวมถึงไม่เห็นถึงมาตรการเยียวยาและการบรรเทาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม โดยเรื่องดังกล่าวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีต้องมีการทบทวน และมีการถอดบทเรียนการเกิดภัยพิบัตินี้มาเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมและมองให้เห็นช่องว่างที่เป็นปัจจัยลบ อันจะมีผลกระทบในระยะยาวและทำการอุดช่องว่างนั้นๆ เพื่อสามารถป้องกันไม่ให้เกิตเหตุดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

     “เราได้นำบทเรียนในครั้งนี้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างหัวใจของการรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีที่ดินประเภทอุตสาหกรรมหรือโซนสีม่วงอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 2.ชายทะเลบางขุนเทียน และ 3.เอกชัย-บางบอน เพื่อนชัชชาติ จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายมาเป็นแนวทาง ได้แก่ 3 พร้อม 5 กำแพง+ 1 เยียวยา โดยแบ่งออกเป็น 

     พร้อมที่ 1 คือ ก่อนเกิดเหตุ มี 2 กำแพงที่ควรคำนึงถึง คือ กำแพงที่ 1 การพิจารณาเรื่องผังเมืองและการจัดการพื้นที่ กำแพงที่ 2 คือ การจัดเก็บวัตถุอันตราย 

     พร้อมที่ 2 คือ ช่วงเกิดเหตุ มี 3 กำแพงที่จำเป็นต้องพิจารณา คือ การระงับเหตุด้วยตนเอง เป็นกำแพงที่ 3 กำแพงที่ 4 คือ การระงับเหตุจากหน่วยงานรัฐ และ กำแพงที่ 5 คือ การอพยพ 

     ส่วน พร้อมที่ 3 คือ หลังเกิดเหตุ สิ่งต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ มาตรการการเยียวยา โดยวิเคราะห์จากนโยบายของแผนปฏิบัติการ ป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2563 และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจาก สารเคมีและวัตถุอันตรายกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2563

     เรื่องผังเมืองและการจัดการพื้นที่ นั้น เราพบว่ามีการอนุญาตให้โรงงานหมิงตี้ขยายพื้นที่และกำลังในการผลิตซึ่งขัดกับผังเมือง อีกทั้งยังไม่พบการเผยแพร่การประเมินหรือแผนที่ความเสี่ยงรอบโรงงาน ทำให้ขาดการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสุขลักษณะและความปลอดภัยของประชาชนโดยรอบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามจำแนกประเภท การดำเนินการที่ถูกต้องนั้นควรจะจัดทำแผนที่และประเมินความเสี่ยงในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ หากพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงสูงและการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดดำเนินการต่อไป โดยการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แท้จริง

     ในส่วนของ การจัดเก็บวัตถุอันตราย พบว่าโครงสร้างอาคารที่ใช้จัดเก็บสารสไตรีนโมโนเมอร์ของโรงงาน  หมิงตี้ ไม่สามารถจำกัดความรุนแรงในการเกิดเหตุหรือป้องกันการระเบิดได้ ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของภัยพิบัติในครั้งนี้ จึงควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยการประสานงานร่วมกับกรมโรงงานให้ดำเนินการตรวจสอบระบบการป้องกันอัคคีภัย การเก็บรักษา และระบบความปลอดภัยของวัตถุอันตรายที่อยู่ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูลวัตถุอันตรายควรเป็นสาธารณะ ง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประชาชน

     ส่วนเรื่อง การระงับเหตุด้วยตนเอง สารเคมีที่ระเบิดและไฟไหม้ที่ลุกลามเป็นวงกว้างนั้น เกิดจากมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในโรงงานไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรรอความช่วยเหลือ ทุกโรงงานจะต้องมีระบบอัตโนมัติในการจัดการตัวเอง จึงเสนอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับ พรบ.ควบคุมอาคาร เพื่อขยายอำนาจในการลงพื้นที่หรือส่งต่อให้เอกชนดำเนินการตรวจสอบ รวมถึงจัดทำแผนดำเนินการเชิงรุกตรวจสอบมาตรการระงับเหตุของโรงงานต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

     ทางด้าน การระงับเหตุจากหน่วยงานรัฐ จากเหตุการณ์นี้จะเห็นถึงความไม่พร้อมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.อุปกรณ์เผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต 2.ข้อมูลสาเหตุของต้นเพลิง ทำให้การระงับเหตุเป็นไปด้วยความล่าช้า 3.การสื่อสารที่สับสน เนื่องจากขาดความรวดเร็วและสม่ำเสมอ การแก้ไขคือเพิ่มความตื่นตัวในการทำงานเพื่อการระงับเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมอุปกรณ์ การซักซ้อม แนวทางการสื่อสารกับประชาชนทั้งเนื้อหาและความถี่ รวมถึงจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวให้พร้อมอยู่เสมอ ตลอดจนเรียกข้อมูลตามกำแพงที่ 1 มาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์

     สุดท้ายคือเรื่อง การอพยพ กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ พบว่าประชาชนได้รับความสับสนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีระบบแจ้งเตือนและแนวทางให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งการออกคำสั่งให้อพยพและการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวไม่สอดคล้องกัน ทำให้การอพยพเป็นไปด้วยความไม่แน่ใจรวมถึงการจราจรที่เป็นปัญหา เพื่อเป็นการอุดรูรั่วปัญหานี้ ผู้อำนวยการที่มีอำนาจสูงสุดจึงควรมอบหมายไปยังผู้มีอำนาจในพื้นที่เพื่อความคล่องตัวในการสั่งการเพื่ออพยพ มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมถึงเส้นทางการเดินทาง ซึ่งข้อมูลสถานที่ในการอพยพควรดำเนินการรวบรวมและจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะแนวทางการสื่อสารกับประชาชน

     ในด้านของ มาตรการเยียวยา ที่เหตุการณ์นี้ได้ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่า 60 วัน แต่มาตรการความช่วยเหลือยังคงไม่ชัดเจนและกระจัดกระจาย การเยียวยาเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงไม่มีการตรวจสุขภาพของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ แท้จริงแล้วภาครัฐควรดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความเสียหาย รวบรวมสิทธิประโยชน์ ติดตามการชดเชย ตลอดจนประสานความร่วมมือไปยังสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

     นอกจากแนวทางการรับมือภัยพิบัติแล้ว ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารสูงสุดควรจะต้องมีการวางแผนสถานการณ์ในอนาคต หรือ Scenario Planning โดยจะต้องสามารถคาดการณ์สถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลและการเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ต้องครอบคลุมทั้งแผนการ อุปกรณ์ บุคลากร ทรัพยากร ตลอดจนซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และอีกหนึ่งหัวใจที่สำคัญคือ ทุนทางสังคม หรือ Social Capital ที่เรียกกันว่าเครือข่ายประชาชน โดยรัฐต้องให้ความสำคัญและมองว่าประชาชนคือแนวร่วมไม่ใช่ภาระ โดยให้ความรู้ใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.รู้ภัย-เข้าใจความเสี่ยงในพื้นที่ 2.รู้ช่วย-ว่าต้องติดต่อใครหากต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ 3.รู้ฟัง-รู้จักช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากรัฐ 4.รู้รัก-ดูแลคนรอบตัวเอง และ 5.รู้รอด-การเตรียมตัวในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรัฐต้องไว้ใจและกระจายอำนาจ เพราะหากทำได้ประชาชนจะกลายเป็นพลังให้กับรัฐ กลายเป็นทุนในการแก้ปัญหาซึ่งสามารถต่อยอดไปยังภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้