โฆษกดีอีเอสเตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม รมว.ต่างประเทศ ปฏิเสธการรับบริจาควัคซีน Moderna
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีการแชร์วิดีโอคลิปประเด็นเรื่อง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ปฏิเสธการรับบริจาควัคซีน Moderna ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
ตามที่มีการให้ข้อมูลระบุว่า ประเทศเพื่อนบ้านต้องการบริจาควัคซีน Moderna จำนวน 100,000 โดส แต่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศปฏิเสธในการรับวัคซีนเพราะกลัวเสียหน้าว่ารับวัคซีนจากประเทศที่เล็กกว่านั้น ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
กระทรวงการต่างประเทศทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงวัคซีนโควิด โดยเร็วที่สุด ทั้งการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) หรือรับมอบความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ โดยได้ติดตามพัฒนาการของวัคซีนโควิด-19 จากทั่วโลก เจรจากับรัฐบาลและหน่วยงานของต่างประเทศเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนและแหล่งกระจายวัคซีนในภูมิภาค โดยได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวร และสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกดำเนินการในเชิงรุกผ่านช่องทางทางการทูตทุกระดับทุกช่องทาง
อีกทั้งยืนยันว่าไทยไม่เคยปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนของมิตรประเทศ กรณีความร่วมมือกับสิงคโปร์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แจ้งว่า สิงคโปร์รู้สึกขอบคุณไทยที่ได้บริจาคอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ให้ในช่วงต้นของการระบาดรุนแรงในสิงคโปร์ ดังนั้นเมื่อสิงคโปร์มีวัคซีนมากพอสำหรับการใช้ในประเทศแล้ว จึงประสงค์จะส่งวัคซีนแอสตราเซเนกามาให้ประเทศไทยจำนวน 120,000 โดสซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณและขอรับความช่วยเหลือนี้ในรูปแบบการยืม (swap) โดยจะส่งวัคซีนคืนให้สิงคโปร์เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศเช่นเดียวกับความตกลงที่ไทยได้ทำกับภูฏาน โดยเรามองว่า เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดว่าใครจะเล็ก หรือใหญ่ หรือเป็นการเสียหน้าใครแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 และความร่วมมืออื่นๆ แล้ว ดังนี้
1. จีน - รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในหลายโอกาส โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดส นอกจากนี้จีนยังอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัท Sinovac และบริษัท Sinopharm เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2. สหรัฐฯ - กระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer Moderna Johnson & Johnson และ Novavax อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) โดยไทยได้รับบริจาควัคซีน Pfizer จำนวนกว่า 1 ล้าน 5 แสนโดส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และฝ่ายสหรัฐฯ มีแผนที่จะมอบเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส
3. ญี่ปุ่น - กระทรวงการต่างประเทศทาบทามการแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) กับญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca จำนวนกว่า 1,050,000 โดสให้แก่ไทยแล้ว และบริจาคเพิ่มให้อีก 300,000 โดสโดยส่งมอบในวันที่ 8 กันยายน นี้ นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อและส่งเสริมการวิจัยยารักษาโรค รวมถึงอุปกรณ์อีกกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแผนส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทย 775 เครื่องมูลค่า 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย
4. สหราชอาณาจักร - ไทยได้ขอรับการสนับสนุนวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีนให้จำนวน 415,000 โดสให้แก่ไทยด้วยแล้ว
5. ภูฏาน - รัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทยได้เห็นชอบการแลกเปลี่ยนวัคซีนล่วงหน้า (vaccine swap) จำนวน 150,000 โดส บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไทยและภูฏานมีร่วมกันอย่างใกล้ชิด
6. เยอรมนี - กระทรวงการต่างประเทศกำลังประสานการรับมอบ Monoclonal antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนีของบริษัท Regeneron จำนวน 2,000 ยูนิตโดยเร็วที่สุด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19
7. สวิตเซอร์แลนด์ - กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง และชุดตรวจ Rapid Antigen 1.1 ล้านชุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกกระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.mfa.go.th หรือโทร 02 2035000 และประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.co ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด24ชั่วโมง