ADS


Breaking News

กรมชลฯ มั่นใจ โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลฯ แก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งทุกมิติ จัดสื่อสัญจรออนไลน์ เผยแพร่รับรู้-ร่วมมือทุกภาคส่วน

กรมชลประทาน เผยผลการศึกษา “โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี” บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งเต็มรูปแบบจัดสื่อสัญจรออนไลน์ สร้างการรับรู้-ความร่วมมือทุกภาคส่วน
     3 สิงหาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมนายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 และสื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมการกิจกรรมสื่อสัญจรผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี เพื่อสรุปผลการศึกษาของโครงการ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงการทำงานในด้านต่างๆ ของกรมชลประทานตลอดเวลาเวลาการศึกษางานที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสพร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
     จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาอุทกภัยในปี 2562 จากอิทธิพลของพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำมูลเอ่อท่วมสูงน้ำหลากท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชุมชนในหลายอำเภอ ประกอบกับในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ทั้งบริเวณ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานีอ.วารินชำราบและ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีตั้งแต่ปี 2550 ปริมาณน้ำท่วมเกิดขึ้นถึง 8 ครั้งในรอบ 12 ปี
     นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า กรมชลประทานเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงวางแผนเพื่อบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาถึงสภาพพื้นที่และระบบลำน้ำที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียงและระบบลุ่มน้ำหลัก จำเป็นต้องใช้ระบบบริหารจัดการบูรณาการทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเน้นการบรรเทาปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับพิจารณาในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมด้วย นอกจากนี้ทางกรมชลประทานยังมีการจัดมวลชนสัมพันธ์บูรณาการการมีส่วนร่วมของประชาชนและของทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
     จากการศึกษาครอบคลุมพื้นที่บริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ลำเซบาย ลำเซบก และลำโดมใหญ่ รวมถึงขอบเขตพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่เกี่ยวข้องอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ  ยโสธร อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด
     เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี มีความสามารถในการระบายน้ำได้รวม 1,200 ลบ.ม./วินาที และระบายกลับลงสู่แม่น้ำมูลผ่านทางห้วยกว้างรวมความยาวคลองผันน้ำ 96.896 กม.ซึ่งจะลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 67,264.62 ไร่ ในบริเวณเขต อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งสามารถลดความเสียหายอุทกภัยได้ ประมาณ 1,500 ล้านบาท/ปี โดยคลองผันน้ำดังกล่าว มีทางรับน้ำเข้าสองแห่งคือ 
• จุดรับน้ำที่ 1 รับน้ำจากห้วยขะยุง (เหนือเขื่อนหัวนา) บริเวณบ้านน้ำคำ หมู่ที่ 8 ต.ห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
• จุดรับน้ำที่ 2 รับน้ำจากแม่น้ำมูล (ท้ายเขื่อนหัวนา) ผ่านทางห้วยผับ  บริเวณบ้านท่าเจริญหมู่ที่ 11 ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และระบายกลับลงสู่แม่น้ำมูลท้ายแก่งสะพือผ่านทางห้วยกว้างบริเวณบ้านหนองเบ็นหมู่ที่ 1 ต.คันไร่ อ.สิรินธร  จ.อุบลราชธานี
     นอกจากนี้กรมชลประทานทำการประชาสัมพันธ์ ตลอดระยะเวลาการศึกษา นับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 - สิงหาคม 2564 เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งการเข้าพบหารือกับหัวหน้าส่วนราชการและผู้นำชุมชน, การประชุมปฐมนิเทศโครงการ , การประชุมกลุ่มย่อยทั้ง 2 ครั้ง รวมถึงการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสื่อสัญจร โดยสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการประชุมย่อยทั้ง 2 ครั้ง คือการแก้ไขปัญหาภาพรวมทั้งลุ่มน้ำมูล ชี และโขง ขณะนี้ที่ปรึกษากำลังอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจความกว้างลำน้ำ เพื่อนำผลมาประกอบการศึกษา และเรื่องที่ดินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตามหลักการชดเชยทรัพย์สินจะมีการตั้งคณะกรรมการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน  และมีผู้ได้รับผลกระทบหรือตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการ
     โครงการจะเริ่มดำเนินการเมื่อโครงการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จ จะมีการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีหลังได้รับงบประมาณจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 7 ปีและเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ กรมชลประทานจะเป็นผู้ดูแลโครงการต่อไป