สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวัตถุดิบประกอบอาหาร แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับโครงการ “อว.พารอด”
(วันที่ 3 สิงหาคม 2564) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวัตถุดิบประกอบอาหาร แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร เข้ารับพระราชทานวัตถุดิบประกอบอาหารที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดย รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นผู้แทนส่งมอบ
วัตถุดิบประกอบอาหารที่พระราชทาน สำหรับใช้ประกอบอาหารเพื่อโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเครือข่าย อว. รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย ไข่ไก่สด จำนวน 3,000 ฟอง เห็ดเข็มทอง จำนวน 300 กิโลกรัม เป็ดสด จำนวน 500 ตัว กระเทียมสดจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 20 กิโลกรัม ข้าวเกษตรอินทรีย์ จำนวน 500 ถุง ข้าวสารจากข้าวพันธุ์ดี กข 43 จำนวน 920 ถุง กุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็ง จำนวน 190 กิโลกรัม หน่อไม้สด นึ่ง จำนวน 10 ปี๊บ และผลิตภัณฑ์ตรานายประมง ได้แก่ เนื้อปลาเก๋า จำนวน 176 ห่อ ปลาข้างเหลือง จำนวน 144 ห่อ และปลาไหล จำนวน 36 ห่อ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้ดำเนินการโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง ใน 46 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับโครงการ “อว. พารอด” ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนคนที่รอเป็นคนที่รอด” เป็นการรวมพลังกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน สร้างเป็นเครือข่ายพันธมิตร ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การสร้างขวัญกำลังใจและเสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน Home Isolation และ Community Isolation โดยการรวมจิตอาสาและอาสาสมัคร รวมถึงผู้ป่วยที่หายดีแล้ว เข้าร่วมพูดคุย แชร์ประสบการณ์และการปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยมี "กล่อง อว.พารอด" ประกอบไปด้วยยาสมุนไพร อุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่โรงพยาบาลมีให้ โดย อว. ได้เริ่มนำร่องจัดส่งกล่อง อว. พารอดให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564