สวรส. 1 ใน 7 PMU หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยประเทศ โดยหน่วยหนุน สกสว. ร่วมขับเคลื่อนวิจัยสู่การพัฒนาระบบสุขภาพ-พร้อมตอบสนองประเทศในสถานการณ์วิกฤต
การบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศช่วงที่ผ่านมา ภายหลังการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารงานวิจัย โดยมีการจัดทำแผนนโยบายและจัดสรรงบประมาณวิจัยผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กลไกสำคัญในการบริหารงบประมาณด้านการวิจัย ของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยของประเทศ (Program Management Unit : PMU) 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 2) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 3) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) 4) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 5) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 6) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ 7) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมหนุนเสริมและติดตามการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละ PMU มีเป้าหมายเดียวกันคือ เร่งขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์โดยส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ภารกิจของ สวรส. ภายใต้ พรบ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมทั้งเป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านสุขภาพของประเทศ (PMU) ที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยสุขภาพบนพื้นฐานความต้องการของประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข ระยะ 20 ปี ตลอดจนตอบสนองนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ โดย สวรส. มีการจัดสรรทุนวิจัยตามภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งจัดสรรทุนวิจัยให้กับโครงการสำคัญของประเทศผ่านโจทย์ของ สกสว. เช่น โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาโรคเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เช่น การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะมีทั้งแบบเชิงรุก (commission approach) ที่มักใช้กับงานวิจัยที่มีลักษณะเฉพาะและหานักวิจัยค่อนข้างยาก เช่น งานวิจัยเชิงระบบและนโยบายสุขภาพที่เป็นภารกิจหลักของ สวรส. และแบบประกาศรับข้อเสนอโครงการที่มีกรอบการวิจัยชัดเจน (call for proposals) ทั้งนี้แต่ละงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. ต้องเป็นงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการพัฒนาความยั่งยืนของระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสาธารณสุขและระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการลดค่าใช้จ่าย การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบของงบประมาณ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กรณีโรคที่ป้องกันได้ โดยผลักดันให้เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพ การพัฒนามาตรการควบคุม/ป้องกันปัญหาโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฯลฯ โดยการกำหนดโจทย์วิจัย สวรส.จะดำเนินการร่วมกับผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยที่มีโอกาสของการนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถสร้างผลกระทบสูงต่อประเทศ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว พร้อมทั้งมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ
ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สวรส.ได้มีงานวิจัยที่ตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวของประเทศที่ชัดเจน ทั้งการนำเสนอมาตรการต่างๆ ในการบริหารจัดการการแก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงการรักษาพยาบาล การให้วัคซีน และแนวทางในการกักกันโรค เช่น งานวิจัยการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวในช่วงวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทยโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, การศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19, การสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายจากการใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19, การศึกษาประสิทธิผลการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดบวมระดับปานกลางถึงรุนแรง, การศึกษาประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนากรอบการติดตามและการประเมินผลของนโยบายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ฯลฯ ตลอดจนงานวิจัยด้านอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และส่งผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เช่น การประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล, การวิจัยสังเคราะห์และทบทวนเพื่อพัฒนามาตรการนำสารสกัดกัญชาใช้ในทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย, กระบวนการวินิจฉัยโรคมะเร็งแบบจีโนมิกส์, การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียและความผิดปกติของทารกในครรภ์ก่อนคลอด, แผนงานวิจัยวัณโรคเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคในประเทศไทย, การศึกษาผลการส่งเสริมเด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย (THAI Model), การพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน, การใช้ระบบบูรณาการปัญญาประดิษฐ์และการติดตามการส่งต่อผู้ป่วยในการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ฯลฯ
โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 สกสว. ร่วมกับ สวรส. และหน่วยงาน PMU จะจัดการแถลงผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านระบบ zoom โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผู้บริหารทั้ง 7 PMU ร่วมแถลงผลงาน รวมทั้งมีการเสวนาเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยของประเทศไทยในมุมมองฝ่ายนิติบัญญัติ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน, คุณวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และดำเนินรายการโดย คุณพิภู พุ่มแก้วกล้า ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมรับชมและฟังได้ที่ www.tsrievent.com