ADS


Breaking News

อว. เปิดเวทีบรรเลงเพลงยุคอยุธยาอายุ 335 ปี หน้าวัดพระราม หวังให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนกิจกรรมบรรเลงเพลงพื้นบ้านสมัยอยุธยาซึ่งบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากลโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราหน้าวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมบรรเลงเพลงโบราณที่แต่งโดยศิลปินฝรั่งเศส เพื่อต้อนรับคณะราชทูตสยามที่นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ 335 ปีที่แล้ว

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดกิจกรรม “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30 – 18.00 น. หน้าวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน

รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา” โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมและเรียบเรียงเพลงโดย พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ และมีฉากหลังเป็นวัดพระรามเพื่อให้ผู้ฟังเสียงเพลงสัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณ “วัดพระราม” และจินตนการภาพของกรุงศรีอยุธยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งเครื่องดนตรีสากลที่ใช้ในการบรรเลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส เครื่องเป่า ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา และเครื่องประกอบจังหวะ

  ส่วนการแสดงแบ่งเป็น 6 ชุดการแสดง ได้แก่ 1. การแสดงเพลงชุดโบราณ เพลงต้นวรเชษฐ์, เพลงสุดใจ, เพลงสายสมร ขับร้อง เพลงสุดใจ และ เพลงสายสมร โดย นาวสาวกมลพร หุ่นเจริญ 2. การแสดงเพลงชุดฝรั่ง เพลง ยินดีต้อนรับชาวสยาม (Entrée des Siamois), เพลงสำเนียงของชาวสยาม (e air siamois), เพลงฝรั่งยี่เฮ็ม, เพลงฝรั่งรำเท้า 3. การแสดงเพลงเดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตรา เพลงค้างคาวกินกล้วย เดี่ยวขลุ่ย โดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เพลงจีนแจ๋ไจ้ยอ เดี่ยวขิม โดย ครูนิธิ ศรีสว่าง 4. การแสดงเพลงชุดโยสลัมและเครือญาติ เพลงโยสลัม, เพลงตามองตา, เพลงความรักเจ้าขา 5. การแสดงเพลงชุดแขกเปอร์เซีย เพลงแขกเชิญเจ้า, เพลงแขกสาย และ 6. สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมวัดพระรามประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง

นางสาวกมลพร หุ่นเจริญ 
ขับร้อง เพลงสุดใจ และ เพลงสายสมร

สำหรับเพลงยินดีต้อนรับชาวสยาม และเพลงสำเนียงของชาวสยาม เป็นเพลงที่ ไมเคิล ริชาร์ด เดอลาลองด์ (Michel Richard Delalande) หัวหน้ากรมมหรสพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ประพันธ์เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หัวหน้าคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 เนื่องจากประทับใจในอุปนิสัยราชทูตผู้มีอัธยาศัยไมตรี มีความสุภาพและมีความเฉลียวฉลาด ซึ่งกิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระรามได้บรรเลงเพลงเก่าที่ผ่านมา 335 ปีอีกครั้ง 

ทั้งนี้ กิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระรามดังกล่าวเป็นผลจากการวิจัยใน “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” ที่ วช. ได้สนับสนุน “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป

โอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัด อว. และประชาชนที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และการแสดงครั้งนี้ใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์