ADS


Breaking News

TSPCA บริการวิชาการสู่สังคม

     วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องเรียนชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิบัณฑิตย์ จัดให้มีการบรรยาย ในหัวข้อ “ภาคประชาสังคม กับ การบริหารจัดการ บนความหลากหลายของ กรณีศึกษา สมาคม มูลนิธิ ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)”  โดยมี ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และนักศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิต ร่วมรับฟังบรรยาย 

     ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) วิทยากรรับเชิญ บรรยายมีประเด็นที่น่าสนใจ  เช่น มนุษย์เรามีหน้าตาเหมือนมนุษย์ยืนสองขาเหมือนในปัจจุบันมาประมาณ 150,000 ปี หรือ 7,500 ชั่วคน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเป็นพลวัตและมีวิวัฒนาการเป็นลำดับ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน จากอดีตที่มนุษย์ใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ ในภาคเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมหาอยู่หากิน กว่า 10,000 ปี จนกระทั่ง ปลายศตวรรษที่ 18 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก นับว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ มีการนำน้ำและไอน้ำมาเป็นพลังงานการผลิต ทดแทนแรงงานคนและสัตว์ที่ใช้มาชั่วนาตาปี ต่อมา ปี 1870  เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มีการนำไฟฟ้ามาใช้เพื่อการผลิตในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น ปี 1969 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 มีการนำพลังอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ต มาสร้างสรรค์ประโยชน์รับใช้มนุษย์  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดการปฏิวัติความรู้หลากหลายสาขาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในด้านคอมพิวเตอร์ และด้านโทรคมนาคม  เกิดการเชื่อมต่อถึงกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและอิทธิพลความคิด  เกิดการต่อยอดของเทคโนโลยี  ที่เกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้รวมกันเป็นผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต  การทำงาน นโยบายของภาครัฐ การเมือง สังคม ธุรกิจ รวมถึงวิธีคิด ความเชื่อและวิถีชีวิต ฯลฯ อย่างมากมาย 

     ประชาสังคม หรือ Civil Society เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ สมาคม มีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อน เป้าหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ก็เช่นเดียวกัน เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีความรักและเมตตาต่อสัตว์ เกิดความตั้งใจจริง ในอันที่จะหามาตรการยับยั้งป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ โดยมีหลักการดำเนินการ เช่น 1. หลักการเชิงนโยบายภาครัฐ ด้วยการสนับสนุนแนวทางการผลักดันกฎหมายและการบังคับใช้ กฎระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย หลักเกณฑ์ ต่าง ๆ ใช้กระบวนการยุติธรรมและสันติวิธี  2. หลักการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการรณรงค์ การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างค่านิยมที่ดี เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า เช่น การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาสื่อ พัฒนาองค์ความรู้กิจกรรมรณรงค์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดจิตสำนึก มุ่งเน้นคุณค่า คุณธรรม และคุณประโยชน์ ในด้านการเมตตากรุณาต่อสัตว์และรักสัตว์อย่างรับผิดชอบ 3. หลักการมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ  ร่วมแก้ปัญหา  ร่วมติดตามและประเมินผลและร่วมชื่นชมความสำเร็จร่วมกันอย่างเป็นระบบ  4. หลักการบูรณาการทรัพยากรในการบริหาร  คน เงิน วัสดุ และวิธีการบริหาร 5. หลักการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน บนพื้นฐานความแตกต่างและหลากหลาย

     สำหรับ “สัตว์” นั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการค้นพบกะโหลกสุนัขในสุสานโบราณ ที่หมู่เกาะออร์กนีย์ ทางเหนือของสกอตแลนด์ ซึ่งคาดว่ามีอายุกว่า 4,000 ปี สันนิษฐานว่า สุนัขถูกเลี้ยงและฝึกให้เป็นทั้งเพื่อนและเฝ้าบ้านและสุนัขเหล่านั้นอาจช่วยด้านการเลี้ยงแกะอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการค้นพบมัมมี่ แมวอายุกว่า 4,000 ปีที่สุสานที่เพิ่งค้นพบในอียิปต์ กลุ่มพีระมิดของฟาโรห์ยูเซอร์คาฟ พบโลงหินทั้งหมด 7 โลง ในจำนวนนี้ 3 โลงมีมัมมี่แมวอยู่ข้างใน

     สำหรับพระพุทธศาสนา มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น พระพุทธรูป ปางปาลิไลยก์  ธรรมจักร กวางมอบ บทสวดแผ่เมตตา พระคาถาพาหุง ศีลข้อ 1 เว้นจาการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป หมายถึง การห้ามฆ่าสัตว์ ทั้งการฆ่ามนุษย์และการฆ่าสัตว์ดิรัจฉานที่มีชีวิตอยู่ทุกเพศทุกชนิด และพระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุฉันเนื้อ 10 อย่าง คือ 1.เนื้อมนุษย์ 2.เนื้อช้าง 3.เนื้อม้า 4.เนื้อสุนัขบ้าน 5.เนื้องู 6.เนื้อราชสีห์หรือสิงโต 7.เนื้อเสือโคร่ง 8.เนื้อเสือดาว 9.เนื้อหมี 10. เนื้อสุนัขป่า และพระพุทธเจ้าทรงห้ามค้าขายสัตว์เป็นที่ยังมีชีวิต สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารส่งเสริมทารุณกรรมและเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วย เป็นต้น

     นอกจากนี้ ดร.สาธิต กล่าวส่งท้ายว่า ในความท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง นอกจากการบริหารจัดการตามบริบทสภาพที่เป็นจริงแล้ว ความยืดหยุ่นทางความคิด  ความสามารถในการแก้ปัญหาตัดสินใจ ด้วยการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ ความสามารถในการบริหารจัดการบุคคล  การเจรจาต่อรอง และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยใจรักบริการ มุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นทักษะพื้นฐานหลักการที่จำเป็น ส่วนวิธีคิดที่จะช่วยให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหา  ท่ามกลางความหลากหลายและเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับความจริงบางอย่างเพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม การยอมรับการเปลี่ยนแปลง คิดเสมอว่าไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ไม่เปลี่ยนแปลง และที่สำคัญการเห็นซึ่งคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมีเมตตาธรรมนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ต่อสู้กับเปลี่ยนแปลงต่อไป