ออทิสติก-คนพิเศษ ที่ต้องสังเกตและเข้าใจ
“ออทิสติก” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการและระบบประสาท โดยเด็กจะมีพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ การสื่อสารล่าช้า และมีลักษณะพฤติกรรม ความสนใจที่แคบ ซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น
สิ่งที่เห็น-เป็นอยู่ : ในประเทศไทยสำรวจพบเด็กออทิสติก ในอัตราส่วน 1:81 (ข้อมูลจากคลินิกเด็กดี รพ.จุฬาลงกรณ์), พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราส่วน 4:1, ประมาณ 44% ของเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยออทิสติก พบมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมากกว่าปกติ, นักส่งเสริมพัฒนาการเด็กในชุมชนไม่เพียงพอ พ่อแม่/ผู้ดูแลต้องพาเด็กไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น, องค์ความรู้/รูปแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกในครอบครัวและชุมชนยังไม่ชัดเจน
สาเหตุ : จากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุสำคัญ, ถ้ามีแฝด 1 คน เป็นออทิสติก มักพบแฝดอีกคนเป็นด้วย (30%) หรือเกิดในพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน 2-18%, พบมากขึ้นในเด็กที่พ่อแม่มีอายุมาก คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย, พบร่วมกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ การติดเชื้อไวรัส หรือการได้รับสารพิษระหว่างการตั้งครรภ์
อาการ : 1.มีความบกพร่องด้านทักษะทางสังคมและการสื่อสาร เช่น ไม่แสดงอารมณ์ตื่นเต้น ไม่เล่นสนุกสนาน ไม่ริเริ่มการสื่อสารกับคนหรือมีการเข้าไปหาแต่พูดคนเดียว สีหน้าเรียบ ไม่แสดงอารมณ์ ไม่สบตา ไม่ชี้บอก ไม่เข้าใจภาษากายของคนอื่น แยกตัว ไม่สนใจคนอื่น 2.มีพฤติกรรมซ้ำๆ ความสนใจแคบ เช่น ถามซ้ำๆ ทำเสียงแปลกๆ เล่นของเล่นแบบซ้ำๆ กินอาหารซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มักถือสิ่งของชิ้นเดิมๆ ไว้ในมือตลอด มีความกลัวแปลกๆ เช่น กลัวน้ำ กลัวเสียง ไม่ชอบการสัมผัส กอด มองสิ่งของที่มีการเคลื่อนไหว จ้องมองไฟ เลียสิ่งของ ดมของ
วิจัย “ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย” : องค์ความรู้ด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกที่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย เพื่อให้นักส่งเสริมพัฒนาการเด็ก พ่อแม่/ผู้ดูแลเด็ก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลเด็ก ในประเด็นสำคัญเช่น สภาพครอบครัวที่ดี ปัจจัยสี่พร้อม มีความปลอดภัย, มีเวลาให้ลูก, โปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการลูกที่บ้าน (THAI Model), การฝึกกับนักส่งเสริมพัฒนาการเด็ก, การใช้ยา/เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
ข้อมูลจากงานวิจัย “การศึกษาผลการส่งเสริมเด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย (THAI Model)” ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สามารถดาวน์โหลดงานวิจัยของ สวรส. และเครือข่ายได้ที่คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ http://kb.hsri.or.th