ADS


Breaking News

โควิด - 19 ดัน "โคบอทส์" หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน โตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรม

การระบาดครั้งใหญ่ผลักดันให้ "โคบอทส์" ใช้ในภาคส่วนสุขภาพทั่วโลก

หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานหรือ "โคบอทส์" เติบโตเร็วที่สุดในภาคส่วนอุตสาหกรรมหุ่นย์ปัจจุบัน  

คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลกจะอยู่ที่  34% ภายในปี พ.ศ. 2568


ประเทศไทย, 6 ตุลาคม 2563 - บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  (Universal Robots: UR) ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากประเทศเดนมาร์กและเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า "โคบอทส์" (Collaborative robots: Cobots) ที่ออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์  ได้แนะบรรดาผู้นำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์จากระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อรับมือกับความท้าทายจากภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด -19




ปัจจุบันโคบอทส์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมหาศาลในการต่อสู้ระดับโลกกับ โควิด -19  ซึ่งการปรับใช้โคบอทของบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  เพื่อรับมือกับภาวะการระบาดใหญ่นั้นได้ครอบคลุมในอุตสาหกรรมแนวหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การทดสอบทางการแพทย์ การจัดการด้านสุขอนามัย การฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการผลิตและทำให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น 

"การระบาดของ โควิด - 19  ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ บริษัทต่างๆ ทั่วโลกและในสิงคโปร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อรับมือกับความเป็นจริงใหม่นี้ให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานก็กำลังได้รับการส่งเสริมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับขั้นตอนการปฏิบัติงานในมาตรฐานใหม่ ซึ่งรวมถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพและการสัมผัสกับมนุษย์ให้น้อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์หรือหุ่นยนต์ร่วมปฎิบัติงาน ที่เรียกว่า "โคบอทส์" ถูกวางตัวให้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้" นายดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าผู้ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  กล่าว


การลดการติดต่อของมนุษย์และการปกป้องผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จาการติดเชื้อ ทำให้แอปพลิเคชันด้านโคบอทในด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและออกมาให้เห็นทั่วโลกในปีนี้   โดยมีบางตัวอย่างของการปรับใช้ที่ประสบความสำเร็จล่าสุดมีดังนี้:


โคบอทส์กับภารกิจจัดการด้านสุขอนามัยและการฆ่าเชื้อ 

เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อและการทำความสะอาดอย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องมีการสัมผัสของมนุษย์โดยตรงในบริเวณที่อาจเกิดการติดเชื้อกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU) ในสิงคโปร์ได้เปิดตัว eXtremeDisinfection roBOT (XDBOT) ซึ่งประกอบด้วยโคบอท ยูอาร์ 5 (UR5) ที่มาพร้อมหัวฉีดพ่นระบบไฟฟ้าสถิตและติดตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มแบบเคลื่อนที่ได้ โดยโคบอทถูกตั้งโปรแกรมให้เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์เพื่อให้สามารถเข้าไปยังบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น ใต้เตียงและใต้โต๊ะ  


โคบอทส์กับการตรวจทดสอบโควิด - 19   

นายเอสเบน ออสเตอร์การ์ด ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  ได้พัฒนาหุ่นยนต์ป้ายลำคอตัวแรกของโลกขึ้นภายใต้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก (University of Southern Denmark: SDU) หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้แขนโคบอท ยูอาร์ 3 (UR3)  ที่ติดตั้งพร้อมกับปลายแขนกลซึ่งสามารถออกแบบและสร้างขึ้นได้ตามต้องการโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยโคบอทส์รุ่นนี้ช่วยให้กระบวนการตรวจป้ายลำคอสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลา 7 นาที และใช้เวลาเพียง 25 วินาทีในการล้างทำความสะอาดตัวเอง 


นอกจากนี้ บริษัท เบรน เนวี่ ไบโอเทคโนโลยี (Brain Navi Biotechnology) ประเทศไต้หวันได้พัฒนาหุ่นยนต์เก็บตัวอย่างอัตโนมัติด้วยวิธีการล้วงเข้าไปในโพรงจมูกตัวแรกของโลกโดยใช้โคบอท ยูอาร์ (UR)    โคบอทรุ่นนี้สามารถจดจำโครงสร้างใบหน้าของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถระบุตำแหน่งของโพรงจมูก ถือไม้ป้ายโพรงจมูก (ลักษณะเหมือนไม้พันสำลีแบบยาว) โดยใช้มือหุ่นยนต์จับ แล้วแทงไม้ป้ายเข้าไปในช่องจมูกของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและค้างอยู่ประมาณ 10 ถึง 25 วินาทีเพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างสารคัดหลั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้สามารถเก็บตัวอย่างได้เกือบ 100 คนภายในเวลา 8 ชั่วโมง กระบวนการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์ จะมีก็เพียงแค่ขั้นตอนการตั้งค่าการสแกนตำแหน่งใบหน้าเริ่มต้นเท่านั้นที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ยืนอยู่หลังแผงป้องกัน 


ทั้งนี้ หุ่นยนต์ป้ายลำคอและโพรงจมูกจะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วยการลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อ ณ จุดที่ทำการทดสอบ 


"หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน ได้ถูกนำไปใช้งานในหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยบริษัทต่างๆ รับมือกับภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก และด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ เช่น ความปลอดภัย ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และการใช้งานง่าย จึงทำให้เกิดความต้องการโคบอทส์อย่างมากในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการกลับมาดำเนินธุรกิจต่อและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ถึงขีดสุด" นายอดัมส์ กล่าวสรุป

แม้ว่าโคบอทส์จะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีสัดส่วนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลกในปี 2561 แต่ ณ ปัจจุบันโคบอทส์กลับมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วสูงสุดในภาคส่วนของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทั้งนี้เป็นที่คาดกันว่า ภายในปี 2568 อัตราการเติบโตของโคบอทจะก้าวกระโดดจากที่จำกัดแค่ในตลาดเฉพาะทางไปเป็นผลิตภัณฑ์กระแสหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 34 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายด้านหุ่นยนต์ทั่วโลก1


เกี่ยวกับบริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  

บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  (Universal Robots: UR) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า "โคบอทส์" (Cobot) ที่ใช้งานง่าย ราคาสมเหตุสมผล มีความยืดหยุ่น และสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย นับตั้งแต่เปิดตัวโคบอทครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 บริษัทได้เดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้และจัดจำหน่ายไป     ทั่วโลกโดยมีอัตราการเติบโตสูงมาก ทั้งนี้ บริษัทเป็นธุรกิจในเครือของบริษัท เทราไดน์ อิงค์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองโอเดนเซ ประเทศเดนมาร์ก และมีสำนักงานภูมิภาคในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย รัสเซีย ตุรกี จีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเม็กซิโก โดยในปีพ.ศ. 2562 บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท  มีรายได้ที่ระดับ 248 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่เว็บไซต์ www.universal-robots.com


แหล่งอ้างอิง:

1. https://blog.universal-robots.com/adaptation-business-continuity-cobots